top of page

2022 Year in Review: สุดยอด 5 เทรนด์ปี 2022 จากกองบก. Tech by True Digital


จาก New Normal สู่ Next Normal จนมาถึง Now Normal โลกเปลี่ยนแปลงไปเพราะโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อต้นปีมีเทคโนโลยีที่ทั้งถูกคาดการณ์ว่าจะกำเนิดใหม่ ทั้งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาให้กับชีวิตผู้คน ในขณะที่ตลอดปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีหลายอย่างก็ถูกเฝ้ามองว่าจะเป็นไปในทิศทางใด จะเปลี่ยนชีวิตและพฤติกรรมของเราได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นเพียงฟองสบู่ที่แตกไปเสียก่อน ดังนั้น ก่อนหมดปี 2022 นี้ Tech By True Digital จึงได้กลับไปย้อนดูว่ามีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาที่เราได้นำเสนอมาโดยตลอด มีเทรนด์เทคโนโลยีใดที่ไม่อาจมองข้ามได้ และนี่คือ 5 เรื่องราวเทรนด์เทคโนโลยีจากบทความของเราที่ทีม Editor ของ Tech By True Digital ยกให้เป็นที่สุดของปี 2022


[AI in Dating]

รักยุคใหม่ เทคโนโลยีช่วยอะไรบ้าง



Editor’s Opinion: “เรามองว่านี่คือการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในไลฟ์สไตล์ของคนในแง่มุมของความรู้สึก ความรักและความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องซับซ้อนที่จับต้องได้ยาก แต่เทคโนโลยีทำให้ง่ายและปลอดภัยได้”


In Brief: ปี 2022 ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของ AI ที่แม้แต่อุตสาหกรรม Online Dating ที่มีการแข่งขันสูง ตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็หันมาใช้ AI เข้ามาช่วยสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อให้บริการของแบรนด์ตนเองแตกต่างจากคู่แข่ง โดยมีตั้งแต่การใช้ AI แมตช์คู่ให้แม่นยำมากขึ้น หลายบริษัทปรับอัลกอริธึมของการแมตช์ให้สามารถซับซ้อนมากขึ้นกว่าแค่ดูลักษณะทางกายภาพภายนอก ให้สามารถดูไปถึงรายละเอียดเบื้องลึกต่าง ๆ เช่น บุคลิกภาพของผู้ใช้งาน รสนิยมทางดนตรี ความเชื่อ ทัศนคติ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการนำ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์และพฤติกรรมการส่งข้อความ เพื่อวิเคราะห์บทสทนาจากการแชทระหว่างคู่ที่แมตช์ให้ เพื่อพิจารณาการเข้ากันได้ของคู่ที่ถูกแมตช์ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเวลาไปออกเดตกับคนที่ไม่ได้ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง 


AI บนอุตสาหกรรมนี้ยังก้าวไปถึงขั้นของการดูแลความปลอดภัยบนพื้นที่ Online Dating ในการตรวจจับ spam และมิจฉาชีพ รวมถึงการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งาน ด้วยการลดเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ให้น้อยที่สุด ตรวจสอบเนื้อหาที่ผู้ใช้อัปโหลดและกรองสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ภาพลามกอนาจาร หรือหัวข้อที่ละเอียดอ่อนอื่น ๆ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีช่วยนำทางและให้ทางเลือกที่สะดวกสบายขึ้นในการสร้างความรักและความสัมพันธ์ในอย่างที่ต้องการ  


อ่านบทความฉบับเต็ม รักยุคใหม่ เทคโนโลยีช่วยอะไรบ้าง ได้ที่นี่


[Telemedicine]

ป่วยแล้วไม่ไปไหน หาหมอทางไกลใกล้กว่าที่คิด



Editor’s Opinion: “Telemedicine เข้ามามีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการใช้งานเครื่องมือ Health Tech มากขึ้น เรามองว่าหากผู้คนเข้าใจการใช้งานและเริ่มใช้ Telemedicine เป็นมากขึ้น เทคโนโลยีจะช่วยให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ในเวลาและสถานที่ที่สะดวกต่อตนเอง และไม่จำเป็นต้องรอให้ป่วยก่อนด้วย”


In Brief: Telemedicine หรือการรักษาในแบบทางไกลเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือ Health Tech ที่กลายเป็นทางเลือกให้กับผู้คนมากขึ้นนับแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีส่วนช่วยให้คนทั่วไปสามารถรักษาสุขภาพได้อย่างถูกต้องกับผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่ต้องรอให้เกิดการเจ็บป่วย และยังลดข้อกังวลเกี่ยวกับการเดินทาง สถานที่รักษาพยาบาล เวลา และการเสียโอกาสอื่น ๆ เช่น เวลาที่อาจหายไปจากการทำงานในการมาพบแพทย์ และด้วยรูปแบบของการปรึกษาที่ไม่จำเป็นต้องเดินทาง จึงทำให้ผู้เข้ารับการปรึกษาสามารถเลือกปรึกษาได้ในเวลาและสถานที่ที่สะดวกต่อตนเอง เป็นต้น 


การปรึกษาแพทย์ในแอปพลิเคชัน Telemedicine สามารถทำได้ตั้งแต่ การรับการรักษา การปรึกษาเรื่องข้อกังวลในชีวิตประจำวัน เช่น การปวดเมื่อย อาหารการกิน ไปจนถึงการแนะนำความเข้าใจที่อาจคาดเคลื่อนด้านสุขภาพต่าง ๆ ไปจนถึงการจัดการความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ การติดตามอาการป่วยเรื้อรัง หรือรับยารักษาเป็นประจำ โดย Telemedicine ยังช่วยในการเก็บข้อมูลคำวินิจฉัย บันทึกอาการ วิธีปฏิบัติตัว รวมไปถึงรายการยาที่สั่งจ่าย ทำให้นอกจากผู้ป่วยจะสามารถย้อนกลับมาดูข้อมูลต่าง ๆ ของตัวเองได้แล้ว ยังมีประโยชน์ในอนาคต หากผู้ป่วยต้องการนำประวัติการรักษาจากแอปพลิเคชันไปรักษาต่อกับแพทย์อื่น ๆ ผู้ป่วยก็สามารถนำประวัติการใช้ยาและการวินิจฉัยไปอ้างอิงเพื่อรักษาต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่อีกด้วย


ทั้งนี้ Telemedicine อาจยังไม่สามารถเป็นคำตอบที่ทดแทนได้ในทุกกรณี โดยกรณีฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ หรือโรคอุบัติเฉียบพลัน การนำตัวผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์ที่สถานพยาบาลยังคงเป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดิม


อ่านบทความฉบับเต็ม สรุป 4  Bites จากรายการ Tech-a-Bite Ep.5 “ป่วยแล้ว (ไม่) ไปไหน หาหมอทางไกลใกล้กว่าที่คิด” ได้ที่นี่


[AI Art]

AI in Your [Emotive] Area: ภาพฝัน ศรัทธา และใจประดิษฐ์



Editor’s Opinion: “AI เคยถูกมองว่าไม่สามารถเข้ามาทดแทนมิติที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิด หรืองานสร้างสรรค์ที่ต้องใช้ความสุนทรียภาพและความลุ่มลึกทางอารมณ์ได้ จนกระทั่งการมาถึงของ AI Art ที่ทำเอาคนทำงานศิลปะนั่งไม่ติด เพราะ AI Art สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้จริง แม้จะยังมีข้อถกเถียงเรื่องความเป็นต้นฉบับและลิขสิทธิ์อยู่ แต่ก็เริ่มมีการซื้อขายผลงาน AI Art กันแล้ว เรามองว่าการเตรียมตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีจะทำให้คนและเทคโนโลยีอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล”


In Brief: AI หรือ Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ทำงานเลียนแบบระดับการรับรู้และประมวลผลสติปัญญาแบบมนุษย์ ได้เข้ามาทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียภาพทางอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตจิตใจ และความศรัทธาแล้ว หลังจากที่เคยถูกมองว่าไม่อาจเข้ามาทดแทนมิตินี้ได้


AI Art ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้นตั้งแต่กลางปี 2022 เมื่อมีการนำเสนอโปรแกรมสร้างภาพศิลปะโดย AI อาทิ Midjourney ของ Leap Motion, DALL-E ของ OpenAI และ Imagen ของ Google ที่ให้ผู้ใช้งานป้อนคีย์เวิร์ดที่อยากให้มีในภาพ หรือบรีฟว่าต้องการให้ภาพออกมาเป็นอย่างไร เป็นสไตล์แบบไหน จากนั้น AI ก็จะสร้างภาพออกมาจากชุดข้อมูลที่ถูกเรียนรู้ไว้ก่อนหน้านั้น ออกมาเป็นงานศิลปะชนิดที่แยกไม่ออกว่าเป็นผลงานของคนหรือ AI ที่วาด และนำไปขายสร้างรายได้ได้อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม AI Art ยังถูกตั้งคำถามมากมายว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะคือการนำผลงานศิลปะของศิลปินหลาย ๆ ภาพที่มีลิขสิทธิ์ไปเป็นภาพต้นแบบในการพัฒนา ดังนั้นภาพ AI Art ที่ถูกออกแบบมาจากโปรแกรมเหล่านี้จึงมีความผสมผสานของภาพที่มีลิขสิทธิ์อยู่ และสไตล์ที่ติดมาจากภาพต้นฉบับก็ถูกตั้งคำถามว่าจะถือเป็นของใคร


อ่านบทความฉบับเต็ม AI in Your [Emotive] Area: ภาพฝัน ศรัทธา และใจประดิษฐ์ ได้ที่นี่


[PDPA กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล]

PDPA รู้จัก PDPA ก่อนคลิก Yes บรรทัดฐานใหม่ชีวิตดิจิทัล



Editor’s Opinion: “PDPA เป็นเรื่องสำคัญและอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างที่เราอาจไม่ทันได้รู้ตัวว่าได้ให้การยินยอมจัดเก็บข้อมูลที่ระบุตัวตนของเราไปแล้ว ในโลกที่ขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ เราจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงสิทธิที่เรามีเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันบริษัทต่าง ๆ ก็ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึง PDPA เพื่อทำให้กระบวนการคุ้มครองเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ และสร้างมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยตามกฎหมายให้องค์กรยึดถือได้อย่างยั่งยืน”


In Brief: PDPA คือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Personal Data Protection Act มีขึ้นเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทุกคน โดยมีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา หลักการสำคัญคือ บริษัทต่าง ๆ ที่มีการเก็บ ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยและปฎิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ให้ดำเนินต่อไปได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น เสริมสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เช่น มีการทำงาน สั่งซื้อของและอาหารผ่านบริการออนไลน์ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีข้อมูลที่ระบุตัวตนของเราได้ ซึ่งถ้าหากรั่วไหลออกไปอาจสร้างความเสียหายได้ บริษัทที่มีการจัดเก็บข้อมูลจึงต้องมีการแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ ว่า มีการนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดบ้าง อย่างไร เป็นต้น

 

ดังนั้น PDPA คือสิทธิของทุกคนที่มีต่อข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง ที่ควรให้ความสำคัญ ตระหนัก และเรียนรู้ถึงสิทธิที่ตนเองมี ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเพิกถอนคำยินยอม การรับรู้ว่าองค์กรมีการเก็บข้อมูลประเภทไหน ใช้อย่างไร หรือมีการส่งต่อข้อมูลนี้ไปที่ใดบ้าง รวมทั้งหมั่นตรวจสอบนโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Notice) ของแต่ละบริการที่สมัครใช้งาน เพื่อรับทราบความเปลี่ยนแปลงในการใช้ข้อมูล ประเภทของข้อมูลที่เปลี่ยนไป รวมถึงสิทธิพึงมีของทุกคนอีกด้วย


อ่านบทความฉบับเต็ม สรุป 4 Bites จากรายการ Tech-a-Bite Ep.7 “รู้จัก PDPA ก่อนคลิก Yes บรรทัดฐานใหม่ชีวิตดิจิทัล” ได้ที่นี่


[AI & Carbon Neutrality]

How Analytics And AI Can Help Achieve Carbon Neutrality



Editor’s Opinion: “วิกฤติสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นเรื่องที่รอไม่ได้และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การนำเทคโนโลยีมาช่วยชี้วัดความสามารถในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutraluty) ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรหรือภาคประชาชน เพื่อชดเชยการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนทางในการช่วยปกป้องโลกและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมได้”


In Brief: คาร์บอนเครดิต หรือ “ใบอนุญาตแทนปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ 1 ตันที่ถูกกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศ” คือหนึ่งในวิธีการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้กับโลก ซึ่งโดยปกติแล้ว องค์กรต่าง ๆ มักมีการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ระหว่างการดำเนินงานขององค์กร ดังนั้น เพื่อเป็นการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม แต่ละองค์กรจึงต้องมีการทำกิจกรรมเพื่อลด ทำลาย หลีกเลี่ยง หรือตรวจจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หากองค์กรใดไม่ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมข้างต้น องค์กรดังกล่าวก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อรักษาสมดุลให้กับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม โดยคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งรวมคาร์บอนที่ก่อให้เกิดการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ อาทิ พื้นทีป่า พื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น 


ตัวเลขคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ดังกล่าวจากแต่เดิมที่ใช้แรงงานคนจำนวนมากและระยะเวลานานในการวัดและแปลผล ถูกแทนที่ด้วย Analytics และ AI เพื่อใช้ในการวัดความสามารถในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเพื่อแปลผลเป็นตัวเลขคาร์บอนเครดิต ซึ่งทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยมีวิธีการคือใช้การเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมของพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อวัดชีวมวลเหนือพื้นดินของพื้นที่ป่าไม้และคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในพื้นที่ จากนั้นจึงแปลผลเป็นตัวเลขคาร์บอนเครดิตของพื้นที่นั้น ๆ ก่อนนำเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต และด้วยการนำเทคโนโลยีเพื่อวัดคาร์บอนเครดิตที่ง่ายนี้เองจะทำให้ทุกคนตั้งแต่บุคคลทั่วไปจนถึงรัฐบาลที่มีพื้นที่สีเขียวเป็นของตัวเองนั้นมีโอกาสในการเข้าถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ ทุกภาคส่วนจึงสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตของโลกเรา


อ่านบทความฉบับเต็ม How Analytics And AI Can Help Achieve Carbon Neutrality ได้ที่นี่


และนี่คือ 5 เรื่องราวเทรนด์เทคโนโลยีจาก Tech By True Digital ที่ทีม Editor ยกให้เป็นที่สุดของปี 2022 Tech By True Digital ยังคงเฝ้ามองการพัฒนาและสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชีวิตผู้คนและโลกใบนี้ต่อไปเพื่อนำเรื่องราวมาอัปเดตให้ผู้อ่านก่อนใครที่นี่ 

Tech By True Digital ขอบคุณสำหรับการติดตามและสนับสนุนตลอดทั้งปีที่ผ่านมา


Comments


bottom of page