top of page

จากต้นทางสู่ต้นแขน บล็อกเชนกับวัคซีนโควิด-19

Updated: Mar 15, 2022



เมื่อวาระสำคัญของโลกในตอนนี้หนีไม่พ้นการรณรงค์ให้ประชาชนรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 แน่นอนว่าหลาย ๆ ประเทศจึงกำลังเผชิญกับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป รวมถึงคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละประเภทที่แต่ละประเทศจัดหามาให้ประชาชน แต่เพราะวัคซีนโควิด-19 นั้นถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นมาในระยะเวลาอันจำกัดเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดให้ได้เร็วที่สุด แม้จะมีการทดสอบทางคลินิคในอาสาสมัครก่อนนำมาใช้งาน กระนั้นประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 ของตัววัคซีนเองก็ยังเป็นที่ถกเถียง ทั้งการตอบสนองของแต่ละบุคคล ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้รับ ปริมาณฉีดที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน การตกลงของภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อฉีดครบโดสในวัคซีนบางประเภท หรือคำถามถึงความปลอดภัยในระยะยาวของการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์แบบใหม่ในวัคซีน ซึ่งล้วนส่งผลต่อการหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสิ้น หากแต่การคงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ถูกนำมาใช้ให้ได้มากที่สุด ครบถ้วนที่สุดนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วน และเป็นเรื่องที่เทคโนโลยีมีคำตอบให้


ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเพื่อใช้รักษาโรคอะไร การคงประสิทธิภาพของวัคซีนตัวดังกล่าวคือหัวใจหลักในการทำให้แน่ใจว่าวัคซีนตัวนั้นจะทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ความสำคัญตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิต จัดเก็บ กระจาย ไปถึงต้นแขนของผู้รับ จึงไม่ใช่เพียงแค่จัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมเท่านั้น แต่การตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสและเชื่อถือได้ตลอดขั้นตอนนี้เป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะแม้แต่ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นเองก็ตาม เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่เมืองคาวาซากิใกล้กับกรุงโตเกียว ก็เพิ่งประสบกับปัญหาการเก็บรักษาวัคซีนโควิด-19 ไม่เหมาะสมจนเป็นเหตุให้ต้องทิ้งวัคซีน ไปกว่า 6,400 โดส เนื่องจากอุณหภูมิของตู้เย็นที่ใช้เก็บรักษาวัคซีนโควิด-19 ขัดข้องและกว่าจะมีผู้พบปัญหานี้ก็ผ่านไปแล้วกว่า 2 วัน หรือแม้แต่ที่สหรัฐอเมริกาเองในช่วงแรกของการทดลองวัคซีนเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ก็มีผลสำรวจจาก Pew Research Center ที่ระบุชัดว่าการยอมรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของชาวอเมริกัน มีความสัมพันธ์กับกระบวนพัฒนาวัคซีนตลอดทั้งกระบวนการ โดยมีชาวอเมริกันมากถึง 77% เห็นว่าวัคซีนถูกอนุมัติในเวลาที่รวดเร็วเกินไปก่อนที่ประสิทธิภาพของวัคซีนจะถูกเข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายังมีกังวลถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของตัววัคซีน จึงมีการพูดถึงเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นพระเอกช่วยในการบริหารจัดการวัคซีนอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทางเพื่อสร้างความเชื่อมันต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) คือคำตอบ



บล็อกเชนไม่ได้จำกัดอยู่ที่แค่วงการ Cryptocurrency


เราอาจคุ้นเคยว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นมีความเชื่อมโยงกับสกุลเงินบนโลกดิจิทัล เพราะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ Bitcoin ใช้ในระบบการจัดการฐานข้อมูล (Data structure) เพื่อยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรม การแลกเปลี่ยน หรือการโอนเงิน เพื่อให้การซื้อขายสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์นี้มีความปลอดภัย แต่บล็อกเชนไม่ได้มีดีแค่ในแวดวงของสกุลเงินบนโลกดิจิทัลเท่านั้น มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้จริงแล้วนั่นก็คือ อุตสาหกรรมอาหาร ตัวอย่างเช่น IBM Food Trust™ ที่เป็นเจ้าแรกของโลกในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยร่วมมือกับแบรนด์ผู้จัดจำหน่ายอาหารชั้นนำอย่าง Walmart, Nestlé และ Dole ด้วยการใช้บล็อกเชนในการติดตามกระบวนการผลิตสินค้าจากฟาร์มจนถึงชั้นวางไปจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค โดยการเขียน smart contract หรือการเขียนชุดคำสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ควบคุมการทำงานของชุดข้อมูลบนระบบบล็อกเชน เพื่อให้ดำเนินการได้ด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติเมื่อเงื่อนไขครบถ้วนตามที่กำหนด โดยเขียนให้มีระบบการติดตาม บันทึก จัดการ และประเมินการปนเปื้อนหรือเน่าเสียที่อาจเกิดขึ้นกับสินค้าหรืออาหารนั้น ๆ ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน พร้อมแจ้งเตือนทันที เพื่อป้องกันก่อนส่งต่อสินค้าหรืออาหารชนิดนั้นไปถึงมือผู้บริโภค สามารถลดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการระบุจุดที่แน่นอนที่เกิดการเจือปนของอาหารจากสัปดาห์เหลือเพียงไม่กี่วินาที ในทางกลับกันผู้บริโภคเองก็สามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าหรืออาหารนั้น ๆ ตั้งแต่ฟาร์มที่ปลูก โรงงานที่ผลิตและบรรจุภัณฑ์ บริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าไปจนถึงร้านค้าที่นำสินค้าและอาหารชนิดนี้ขึ้นวางจำหน่ายได้ ต่างจากการขนส่งสินค้าในรูปแบบเดิมที่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางในการจัดการข้อมูลและบางครั้งเกิดความผิดพลาด และใช้เวลานานในการตรวจสอบ บล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง จึงเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความมั่นใจว่าปลอดภัย โปร่งใสและตรวจสอบได้


---ระบบติดตาม ตรวจสอบและประกันคุณภาพน้ำมันมะกอกแบรนด์ Terra Delyssa ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนจาก IBM Food Trust™---



ประเด็นในการจัดเก็บและการรักษาอุณหภูมิที่ถูกต้องตลอดขั้นตอนของระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารนี่เอง จึงกลายเป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้บล็อกเชนก้าวข้ามอุตสาหกรรมการเงินดิจิทัล เข้ามายังโลกของการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 นั่นคือ กระบวนการคงประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างครบถ้วนและมีความปลอดภัย เชื่อถือได้และเพื่อกระจายวัคซีนไปถึงปลายทางอย่างเหมาะสม


บล็อกเชนกับการปฏิวัติวงการวัคซีนโควิด-19


ระบบบริการ​สุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Service (NHS) ของสหราชอาณาจักรได้ปฏิวัติวงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่พัฒนาโดยบริษัท Everyware ของสหราชอาณาจักรและบริษัท Hedera Hashgraph ของสหรัฐอเมริกา ในการบริหารจัดการการจัดเก็บและการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ไปยังจุดให้บริการฉีดวัคซีน โดยใช้ในการติดตาม ควบคุมการจัดส่งและเก็บรักษาอุณหภูมิของวัคซีนโควิด-19 สำหรับโรงพยาบาล 2 แห่งคือ โรงพยาบาล Stratford-upon-Avon และโรงพยาบาล Warwick ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี โรงพยาบาล Stratford-upon-Avon เองก็เคยประสบปัญหาต้องทิ้งวัคซีนโควิด-19 ไปกว่า 1,000 โดสเพราะการจัดเก็บที่ไม่เหมาะสมมาแล้ว



ทั้งนี้ หลักการทำงานของเทคโนโลยีบล็อกเชนในการบริหารจัดการวัคซีนเริ่มต้นที่การใช้เซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบและติดตามอุปกรณ์ที่ควบคุมอุณหภูมิของตู้เย็นที่เก็บวัคซีนโควิด-19 แบบเรียลไทม์ จากนั้นจึงส่งข้อมูลไปยังแพลตฟอร์มคลาวด์ ที่มีการเข้ารหัสไว้ แล้วจึงส่งต่อไปยังเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งมีการจัดเก็บข้อมูลแยกประภทแบบกระจายศูนย์ โดยไม่ผ่านตัวกลางใดๆ หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) โดยบันทึกรายการธุรกรรมดิจิทัลบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในเวลาเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้วัคซีนที่มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิถูกรบกวนหรือเจือปน เช่น วัคซีนจากบริษัท Pfizer-BioNTech ที่ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และเมื่อละลายแล้ววัคซีนชนิดนี้จะมีอายุอยู่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้นานเพียง 5 วันเท่านั้น ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติใดขึ้นกับการควบคุมอุณหภูมิของตู้เย็นที่เก็บรักษาวัคซีน โรงพยาบาลก็จะสามารถทราบถึงความผิดปกตินั้นก่อนที่จะแจกจ่ายวัคซีนให้กับผู้รับได้อย่างทันท่วงที การใช้บล็อกเชนเข้ามาบริหารจัดการการจัดเก็บและการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 นั้นมีข้อได้เปรียบกว่าการใช้ฐานข้อมูลแบบทั่วไปเพราะข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในบัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์จะไม่มีตัวกลาง ยากต่อการแก้ไขข้อมูล สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างโปร่งใส ใกล้เคียงกับแหล่งที่มามากที่สุด ส่งผลต่อความถูกต้องในการวิเคราะห์ชุดข้อมูลปลายทาง อีกทั้งการทำงานของระบบนี้ยังสามารถป้องกันความผิดพลาดจากมนุษย์ จึงทำให้การตรวจและติดตามของระบบนี้แม่นยำถึง 100% บล็อกเชนจึงกลายเป็นพระเอกที่เข้ามามีส่วนช่วยให้วัคซีนโควิด-19 ถูกจัดเก็บอย่างถูกวิธี ลดความยุ่งยากในการจัดการสต็อก และจัดส่งถึงมือบุคลากรทางการแพทย์และผู้รับวัคซีนได้อย่างที่ยังสามารถคงคุณค่าของวัคซีนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ



บล็อกเชนกับวัคซีนพาสปอร์ต


การประยุกต์ใช้บล็อกเชนกับวัคซีนโควิด-19 นั้นไม่เพียงแค่อยู่ในการติดตามการจัดเก็บและกระจายวัคซีนเท่านั้น หากยังมีบทบาทในการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพหรือ Digital Health Record และบันทึกยืนยันสถานะการได้รับวัคซีนโควิด-19 อีกด้วย


  • สาธารณรัฐไซปรัสถือเป็นประเทศที่ใช้บล็อกเชนในระบบบันทึกข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EHR : Electronic Health Record) เพื่อเก็บข้อมูลการตรวจเชื้อโควิด-19 ของพลเมืองไซปรัส แจ้งสถานะตรวจสุขภาพของแต่ละบุคคล และเปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลสุขภาพนี้ได้ตามความต้องการของบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ๆ

  • เกาหลีใต้ ยืนยันว่าอยู่ในระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันบนพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อทำหน้าที่เป็นวัคซีนพาสปอร์ตหรือ GreenPass ให้ตรวจสอบข้อมูลการรับวัคซีนของประชาชน เปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สนามบิน โรงพยาบาล สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพดังกล่าวได้ และบล็อกเชนยังป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลและการขโมยอัตลักษณ์ของเจ้าของข้อมูลอีกด้วย

  • โคลัมเบียเป็นประเทศแรกในละตินอเมริกาที่เริ่มทดลองใช้หนังสือเดินทางดิจิทัล ชื่อ VitalPass ที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชนในการติดตามการฉีดวัคซีน โดยหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนในเขตที่อยู่ในการนำร่องโครงการจะได้รับสำเนาใบรับรองการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัล ที่แสดงผลสีเหลืองสำหรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกและสีเขียวสำหรับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งใบรับรองการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัลนี้ เข้าถึงได้จากอุปกรณ์ทุกรูปแบบที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ โดยมีแผนจะขยายโครงการหนังสือเดินทางวัคซีนโควิด-19 ดิจิทัลนี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ในทวีปต่อไป



  • เยอรมนีเองแม้ว่าในปัจจุบันนี้จะใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนแบบกระดาษอยู่ ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบดิจิทัลเพื่อให้แน่ใจว่าใบรับรองดิจิทัลนั้นปลอดภัยจากการแฮ็กหรือปลอมแปลง โดยใช้เทคโนโลยีของ IBM ซึ่งได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ปลอดภัยและระบบหลังบ้านที่จะสามารถทำงานร่วมกับระบบไอทีของสถานพยาบาลกว่า 55,000 แห่ง และศูนย์ฉีดวัคซีนอีกกว่า 410 แห่งทั่วเยอรมนี โดยถือว่าใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบดิจิทัลนี้จะเป็นอีกทางเลือกในการเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนบนสมาร์ทโฟนให้กับประชาชนในประเทศ

  • ทั้งนี้ บริษัท IBM เองก็ได้พัฒนา Digital Health Pass หนังสือเดินทางสุขภาพแบบดิจิทัลที่พัฒนาบนเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยมีการบันทึกข้อมูลผลการตรวจโควิด-19 การสแกนอุณหภูมิ และบันทึกรับรองการฉีดวัคซีนซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองใช้ในสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน


เพราะวัคซีนโควิด-19 แต่ละประเภทนั้นมาจากการทุ่มเท ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และเลือกสรรเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสม และจะถูกฉีดให้กับประชาชนในทุกมุมโลก จึงสมควรได้รับการบริหารจัดการ จัดเก็บ และกระจายแบบถูกวิธี ด้วยการเลือกใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้องเพื่อคงประสิทธิภาพของวัคซีนได้อย่างครบถ้วน มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และที่สำคัญวัคซีนต้องถูกกระจายไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึงให้กับประชาชนเพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังต้องทำควบคู่ไปกับการสวมหน้ากาก ล้างมือให้บ่อย เว้นระยะห่างทางสังคมจนกว่าที่จะมั่นใจได้ว่าสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพนั้นครอบคลุมจำนวนประชากรส่วนใหญ่จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างแท้จริง


#วัคซีนโควิด19

#โควิด19


อ้างอิง:


Comments


logo-footer.png

True Digital Group Co., Ltd.

True Digital Park, Griffin Building, 9-12 Fl, 101 Sukhumvit Rd,   Bangchak, Phra Khanong, Bangkok 10260, Thailand

@ True Digital Group Limited All rights reserved.

Get In Touch

Thanks for submitting!

#TrueDigitalGroup

Picture2.png
bottom of page