Digital Clothes is the new fast fashion ที่จะไม่ทิ้งคาร์บอนฟุตปริ้นท์ให้กับโลก
แนวคิดของโลกเสมือนหรือ Metaverse ที่ขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงและหลุดออกมานอกเหนือจากวงการเกม ทำให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มพัฒนาสินค้าและบริการแบบดิจิทัลเพื่อรองรับโลกเสมือนมากขึ้น บางอุตสาหกรรมมีสินค้าดิจิทัลในโลกเสมือนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพียงแต่ความเข้าใจของผู้คนที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลในครั้งแรกเริ่มของการเริ่มแนะนำผลิตภัณฑ์อาจไม่เท่ากับในทุกวันนี้ จึงทำให้สินค้าและบริการแบบดิจิทัลเป็นที่ยอมรับมากขึ้น หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีหนทางให้กับตนเอง และ เสื้อผ้าดิจิทัล ผลผลิตจาก Digital Fashion คือหนึ่งในนั้น
เสื้อผ้าดิจิทัล คืออะไร
เสื้อผ้าดิจิทัล มีความหมายแบบตรงตัวคือเสื้อผ้าที่สวมใส่ในโลกดิจิทัล ไม่ใช่เสื้อผ้าจริง ๆ ที่จับต้องได้ทางกายภาพ แต่มีตลาดให้ซื้อหา มีมูลค่าให้จับจ่าย และมีความต้องการเพื่อใช้กับตัวตนดิจิทัลในโลกเสมือน เสื้อผ้าดิจิทัลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Fashion ที่หมายรวมถึง เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่การเสพเทรนด์แฟชั่นผ่านโลกดิจิทัล แต่คือการสวมใส่แฟชั่นแบบดิจิทัลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เรามีตัวตนอยู่
การสวมใส่เสื้อผ้าดิจิทัล มีวิธีการตั้งแต่ ผู้ซื้อไปยัง pop-up store ของแบรนด์ที่วางขายเสื้อผ้าดิจิทัล เลือกเสื้อผ้าดิจิทัลแล้วส่องกระจกที่หน้าร้าน ที่เมื่อส่องแล้วจะปรากฎเสื้อผ้าดิจิทัลแบบที่ผู้ซื้อเลือกไว้ มาทาบทับกับตัวเองบนกระจกนั้น ได้เห็นทันทีว่าหากสวมใส่แล้วจะเป็นอย่างไร จากนั้นทางแบรนด์ก็จะปรินท์ภาพออกมาหรือส่งไฟล์ภาพผ่านอีเมลให้ผู้ซื้อ หรือแม้ว่าอาจยังไม่ได้ซื้อ ก็จะได้เห็นลุคของตัวเองกับเสื้อผ้าดิจิทัลนั้น ๆ
หรือแบบที่ผู้ซื้อเลือกเสื้อผ้าจากแบรนด์เสื้อผ้าดิจิทัลที่ต้องการผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน จากนั้นส่งรูปถ่ายของตัวเองไปให้แบรนด์ โดยแบรนด์ก็จะตัดต่อรูปของผู้ซื้อที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ถูกเลือกอย่างมืออาชีพ แล้วส่งกลับมาให้ผู้ซื้อ เพื่อนำไปใช้บนโลกดิจิทัลเพื่อนำเสนอตัวตนบนแฟชั่นดิจิทัล เสมือนว่าได้ใส่จริง
ชุดวอร์มเมทัลลิก เสื้อผ้าดิจิทัลจากแบรนด์ Carlings
การสวมใส่เสื้อผ้าดิจิทัลอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องของโลกอนาคต แต่ที่จริงแล้ว เสื้อผ้าดิจิทัลถือเป็นเรื่องปกติของแวดวงเกมเมอร์ที่มีการแต่งตัวในโลกเสมือนมาอย่างยาวนาน สำหรับคอเกม เสื้อผ้าดิจิทัลจะอยู่ในรูปแบบของ "สกิน" ซึ่งคือชุดและอาวุธที่ตกแต่งให้ตัวละครในเกม หรือเลือกใส่ในอวาตาร์ของเรา ใน Fortnite สกินทั่วไปมีราคาระหว่าง 2-20 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีไว้เพื่อความสวยงาม นำเสนอตัวตนและไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถของผู้เล่น แสดงถึงตลาดสำหรับการนำเสนอตัวตนเสมือนจริงผ่านเสื้อผ้าดิจิทัล เพราะสกินที่หายากและพิเศษที่สุดบางชิ้น เช่น Skull Trooper Skin มีราคาหลายพันดอลลาร์สหรัฐ
Skull Trooper Skin จาก Fortnite
Digital Clothes vs. Fast Fashion
เสื้อผ้าดิจิทัลไม่ใช่แค่แฟชั่นบนโลกเสมือนในเกม แต่แผ่ขยายอาณาเขตความต้องการมาสู่ไลฟ์สไตล์ของคนทั่วไปในโลกดิจิทัลมากขึ้น บางคนต้องการใส่เสื้อผ้าดิจิทัลเพื่อโพสต์รูปตนเองกับแฟชั่นนั้นลงบนโซเชียลมีเดีย จึงมีการคาดการณ์ว่า เสื้อผ้าดิจิทัลจะกลายเป็นโอกาสในการกำหนดรูปแบบธุรกิจใหม่ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลกความเป็นจริง แม้ว่าในปัจจุบัน อาจดูเข้าใจได้ยากว่าแฟชั่นในโลกเสมือนกับโลกความเป็นจริงจะมาบรรจบหรือทดแทนกันได้อย่างไร
แต่ในขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ กระแสการบริโภคแฟชั่นแบบมาไวไปไว หรือ Fast Fashion ที่เป็นการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความรวดเร็ว ต้นทุนต่ำทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและแรงงาน เพื่อให้ได้เสื้อผ้าตามเทรนด์ในเวลานั้น ในราคาถูก เข้าถึงได้ ใส่ไม่กี่ครั้งก็พร้อมเปลี่ยนไปเป็นแบบอื่นเรื่อย ๆ ทำให้ภาคการผลิตและขนส่งของอุตสาหกรรมแฟชั่นและแบรนด์เสื้อผ้าบางแบรนด์ในโลกความเป็นจริงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายรูปแบบ อาทิ ต้นเหตุของภาวะเรือนกระจก มลพิษทางน้ำจากกระบวนการผลิต ขยะเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว หรือกระทั่งการจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น
กองขยะเสื้อผ้ามือสองและเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วจากทั่วโลกที่ประเทศชิลี
ในขณะที่ผลพวงจากความต้องการ Fast Fashion กำลังเป็นที่ถกเถียงถึงการสร้างความไม่ยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ เสื้อผ้าดิจิทัลก็กำลังเป็นที่พูดถึงว่า จะเข้ามาแทนที่อุปทานของผู้คนที่ต้องการใส่เสื้อผ้าแบบไม่ซ้ำ ใส่ครั้งเดียวทิ้ง ต้องการนำเสนอตัวตนในโลกโซเชียลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง เสื้อผ้าดิจิทัลจึงมาตอบโจทย์การสะท้อนภาพลักษณ์ตนเองบนโลกเสมือนแบบนำสมัย ไม่ตกเทรนด์ ไม่ซ้ำใคร ใส่เสื้อผ้าใหม่ได้บ่อยและเพราะไม่มีการผลิตเป็นกายภาพจริง ๆ จึงไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายให้กับโลกใบนี้
รองเท้าดิจิทัลจากแบรนด์ The Fabricant x Buffalo London
เมื่อแฟชั่นแบรนด์ลงมาเล่นในสมรภูมิเสื้อผ้าดิจิทัล
หลายแฟชั่นแบรนด์ให้ความสนใจในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าดิจิทัลมากขึ้นทั้งที่เป็นแบรนด์แฟชั่นดั้งเดิมและแบรนด์ที่ผลิตออกมาเพื่อขายให้โลกเสมือนที่เดียวเท่านั้น ทั้งที่อยู่ในเกมและทั้งที่ให้คนที่ไม่ได้เล่นเกมได้สวมใส่เสื้อผ้าดิจิทัลเพื่อตอบสนองรสนิยมแฟชั่นส่วนตัว หรือกระทั่งความต้องการใส่เสื้อผ้าแบบที่ชีวิตจริงหาใส่ไม่ได้ หรือไม่กล้าใส่ อาทิ
Carlings แบรนด์ค้าปลีกในสแกนดิเนเวียและเป็นผู้นำตลาดยีนส์ ได้เปิดตัวคอลเลกชั่นเสื้อผ้าดิจิทัลชุดแรกของโลกเมื่อปี 2018 โดยให้ลูกค้าส่งรูปถ่ายมาที่แบรนด์และมีทีมนักออกแบบ 3 มิติช่วยปรับแต่งและสวมใส่เสื้อผ้าดิจิทัลให้แก่ลูกค้า ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จนเป็นที่มาของคอลเลกชั่นเสื้อยืดแบบ AR (Augmented Reality) ครั้งแรกของโลกในปีถัดมาชื่อ “The Last Statement T-Shirt” ที่ใช้เทคโนโลยี Spark AR เชื่อมกับสมาร์ตโฟนของลูกค้า ที่เมื่อส่องไปที่เสื้อยืด AR ของ Carlings มันก็จะขึ้นดีไซน์เสื้อยืดให้เห็นแบบที่สามารถเปลี่ยนแบบได้มากมายชนิดที่ไม่ต้องซื้อเสื้อยืดใหม่ไปได้อีกเป็นโหลเลยทีเดียว
The Last Statement T-Shirt จากแบรนด์ Carlings
The Fabricant แบรนด์เสื้อผ้าที่นำเสนอเสื้อผ้าแบบดิจิทัลเป็นเจ้าแรก ๆ มาตั้งแต่ปี 2019 มีทั้งเสื้อผ้าแบบ 3 มิติและรองเท้าสุดแฟนซี โดย The Fabricant เป็นแบรนด์แรกที่มีการทำเสื้อผ้าดิจิทัลขายผ่านบล็อกเชน โดยสามารถทำราคาได้สูงถึงตัวละ 9,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ ตัวละ 3 แสนบาทไทย ที่มีให้ใส่ได้บนโลกดิจิทัลเท่านั้น!
เสื้อผ้าดิจิทัลชุด 'Iridescence' จากแบรนด์ The Fabricant ราคา 9,500$
ที่มา: ที่มา: https://www.instagram.com/the_fab_ric_ant/
DressX แบรนด์เสื้อผ้าดิจิทัลยอดนิยมที่เปิดตัวเสื้อผ้าดิจิทัลไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 โดยให้ลูกค้าได้ลองเสื้อผ่านแอปพลิเคชันที่อาศัยเทคโนโลยี AR เมื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อเสื้อผ้า ก็ให้อัปโหลดรูปของตัวเองที่ต้องการใส่เสื้อผ้านั้น ๆ แบบไม่จำกัดท่าทางลงไปยังเว็บไซต์หรือแอปพลิชันของ DressX จากนั้นก็จะทำการตัดต่อภาพส่งกลับมาภายใน 1-2 วัน ในรูปแบบที่ลูกค้าพร้อมจะนำไปใช้งานในโลกดิจิทัลของตนเอง
ซ้าย : ภาพ original ของผู้ซื้อ / ขวา : ภาพตัดต่อชุดดิจิทัลเข้าไป จากแบรนด์ DressX
ที่มา : https://www.forbes.com/
DressX มีการวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการสร้างเสื้อผ้าดิจิทัลและการผลิตเสื้อผ้าจริงในปี 2020 พบว่าการผลิตเสื้อผ้าดิจิทัลนั้นปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงถึง 97% และประหยัดน้ำในการผลิตเสื้อผ้าถึง 3,300 ลิตร โดยเป็นการวัดจากการสร้างเสื้อผ้าดิจิทัล การส่งรูปภาพไปยังลูกค้า การส่งอีเมลแบบแนบไฟล์ แต่ไม่รวมการเก็บไฟล์แบบถาวรไว้บนคลาวด์
Gucci แบรนด์ระดับไฮเอนด์ก็เริ่มทำตลาด Digital Fashion ในโลกเสมือนเช่นกัน โดยเริ่มที่คอมมูนิตี้เกมอย่าง The Sims 4 ที่มีคอลเลกชั่นพิเศษในเกมในชื่อ Gucci Off The Grid ให้ผู้เล่นได้สวมใส่ Digital Fashion บนคาแรกเตอร์ อันได้แก่ หมวก และรองเท้า ในขณะที่เป้และเครื่องประดับอื่น ๆ สามารถใช้เป็นของตกแต่งเพิ่มเติมได้ในเกม
Gucci Off The Grid Collection ในเกม The Sims 4
ที่มา: https://www.gucci.com/
ก่อนหน้านี้ Gucci เองก็ไม่ยอมตกขบวนโลกดิจิทัลด้วยการเปิดตัวแอป AR ที่ให้ผู้ใช้ลองสวมใส่รองเท้าผ้าใบรุ่น Ace และล่าสุด Gucci เปิดตัวรองเท้าผ้าใบแบบ Virtual รุ่น "The Gucci Virtual 25" ในราคาเพียงคู่ละ 12 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตอบโจทย์โลกเสมือนที่แท้จริง ผู้ซื้อสามารถใส่ขาตัวเองลงไปแบบ AR เพื่อสวมใส่รองเท้าดิจิทัล โดย Gucci ยังปลดล็อกเวอร์ชั่นให้ผู้ซื้อสามารถดาวน์โหลดนำไปสวมใส่บนอวาตาร์ของตัวเองบนแพลตฟอร์ม VRChat และเกมออนไลน์ Roblox อีกด้วย
รองเท้าผ้าใบดิจิทัล รุ่น "The Gucci Virtual 25" จากแบรนด์ Gucci
Marc Jacobs และ Valentino ออกคอลเลกชั่นสำหรับอวตาร์ในเกม Animal Crossing
Louis Vuitton ออกคอลเลกชั่นสกินสำหรับผู้เล่น League of Legends ที่มีการนำมาตัดเป็นชุดจริงสำหรับผู้ที่ต้องการมีทั้งเสื้อผ้าดิจิทัลและเสื้อผ้าจริงด้วย
คอลเลกชั่นที่มีทั้งเสื้อผ้าดิจิทัลและเสื้อผ้าจริงจากแบรนด์ Louis Vuitton x League of Legends
ข้อจำกัดเสื้อผ้าดิจิทัล ยากต่อการเข้าใจ ราคาแพงแถมยังใส่ไม่ได้ในชีวิตจริง
เสื้อผ้าดิจิทัลสำหรับการใช้ชีวิตนอกเกมแต่อยู่ในโลกเสมือนนั้นกำลังมาก็จริง แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ถ้าจะทำให้กลายเป็นความต้องการของคนหมู่มาก ก็ต้องผ่านอุปสรรคนี้ไปให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำให้ตัวตนดิจิทัลได้สวมใส่เสื้อผ้าดิจิทัลแบบเรียลไทม์ ไม่ต้องรอนาน เพราะในปัจจุบันกว่าที่ผู้ซื้อจะได้เห็นโททัลลุคกับเสื้อผ้าดิจิทัลนั้น ๆ ก็ต้องรอถึง 1-2 วันกว่าจะได้เห็นเสื้อผ้าดิจิทัลบนตัวเอง อย่างเร็วที่สุดที่แบรนด์หนึ่งสามารถเสนอให้กับลูกค้าได้คือ 3-5 ชั่วโมงในการปรับแต่งภาพ ก่อนที่จะส่งกลับมาให้ลูกค้านำไปโพสต์ลงโซเชียลแพลตฟอร์มได้ การต้องรอในโลกแห่งความจริงนานขนาดนี้ อาจเป็นอุปสรรคสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าดิจิทัลประเภทนี้
ในขณะที่ราคาของเสื้อผ้าดิจิทัลก็เป็นสิ่งที่โดนตั้งคำถาม เพราะโดยปกติการซื้อเสื้อผ้าราคาแพงที่เราใส่ได้ในชีวิตจริงก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่สำหรับเสื้อผ้าที่ใส่ไม่ได้จริงที่บางชิ้นอาจมีความเป็นไปได้ว่าจะแพงกว่าเสื้อผ้าจริง ๆ จึงอาจเป็นสิ่งที่เป็นกำแพงของตลาดเสื้อผ้าดิจิทัล ซึ่งโดยทั่วไปคนมักจะประเมินราคาสินค้าดิจิทัลต่ำเกินไปและต่ำกว่าราคาของที่จับต้องได้จริง หากชุดความคิดเรื่องราคาของดิจิทัลนี้ถูกปรับเปลี่ยนไป คนอาจยอมรับเสื้อผ้าดิจิทัลได้ในราคาที่หลากหลายมากขึ้น
อีกสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ เสื้อผ้าดิจิทัลอาจเป็นแฟชั่นสำหรับนักชอป แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิตเพื่อเป็นสิ่งห่อหุ้มร่างกายที่ยังจำเป็นต้องมี เสื้อผ้าดิจิทัลจึงอาจเป็นทางเลือกให้คนที่ชอบแฟชั่น เพื่อใส่ถ่ายรูปแบบไม่ซ้ำ โดยที่ไม่ต้องใส่จริงและยังเป็นทางออกให้กับโลกในการลดปริมาณคาร์บอนคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ แต่ความเป็นจริงในระดับหนึ่งเกี่ยวกับความต้องการเสื้อผ้าที่จับต้องได้ก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความสามารถในการสร้างเสื้อผ้าที่จับต้องได้จากเสื้อผ้าดิจิทัลจึงอาจเป็นกุญแจสำคัญเพื่อให้ความต้องการนี้เข้าถึงคนได้หลากหลาย แต่ทำอย่างไรให้โลกมีทางเลือกเพื่อความยั่งยืนเช่นกัน
คอลเลกชั่น Gucci Off The Grid มีทั้งในเกม The Sims 4 ที่เป็นดิจิทัลแฟชั่น และเสื้อผ้าจริงที่นำวัสดุรีไซเคิลมาผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ที่มา: https://www.gucci.com/
แม้เสื้อผ้าดิจิทัลอาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ และหลายคนยังเข้าไม่ถึงกับคอนเซ็ปต์ที่ใส่ไม่ได้ในชีวิตจริง แต่เสื้อผ้าดิจิทัลก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีการประเมินว่าจะมีมูลค่าการเติบโตถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ประกอบกับตลาดความต้องการใช้สกินในแวดวงเกมเมอร์ที่มีอยู่แล้ว และความต้องการใช้เสื้อผ้าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงตัวตนในโลกดิจิทัลนั้นมีอยู่และได้รับความสนใจจากผู้คนยุคใหม่ไม่น้อย ผลสำรวจจาก Barclaycard ธนาคารออนไลน์ในอังกฤษ พบว่า 1 ใน 10 คนซื้อเสื้อผ้ามาเพื่อถ่ายลงบนโซเชียลแพลตฟอร์มเท่านั้น จากนั้นจึงส่งคืนร้านค้า ไม่ได้ซื้อเพื่อใส่จริง แสดงให้เห็นว่าตลาดเสื้อผ้าดิจิทัลมีอยู่จริง เป็นที่ต้องการจริง
มีหลายสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เวลาและโอกาสอาจทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นที่นิยม เป็นสิ่งที่คนต้องการ บางครั้งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีไว้เพื่อไม่ให้ตัวเองหลุดขบวนของโลกใบนี้ ดังนั้นสำหรับคำถามที่ว่า แล้วใครจะยอมจ่ายให้เสื้อผ้าดิจิทัลที่ซื้อจริงแต่ไม่ได้ใส่ในชีวิตจริง แต่เมื่อเราทุกคนกำลังเดินทางไปสู่ยุค Metaverse จะด้วยความมุ่งหมายหรือการใช้ชีวิตใน Metaverse ที่แตกต่างกันมากน้อยตามแต่เงื่อนไขของแต่ละบุคคล แม้หลายคนจะยังไม่ได้คำตอบในเวลานี้ แต่การซื้อของเพื่อตอบสนองความต้องการทางโลกดิจิทัลนั้นมีอยู่ การมาของ Mataverse ที่โลกเสมือนกำลังเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของเรานั้นก็ใกล้ความจริง เผลอ ๆ แม้ยังตอบไม่ได้ว่าว่าต้องการหรือไม่ เราอาจต้องจ่ายให้กับเสื้อผ้าดิจิทัลแบบไม่ทันรู้ตัว
อ้างอิง:
Comments