ทรูดิจิทัล พัฒนา แพลตฟอร์มเทเลแคร์ ช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ร่วมกับ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และผู้ที่มีความพิการทางใบหน้า ให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลและบริการทางการแพทย์ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสที่ดีกว่าในอนาคต
ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น (ที่ 2 จากขวา) ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า นายวิลาส เตโช (ขวาสุด) ผู้อำนวยการสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และ นายชาง ฟู (ซ้ายสุด) หัวหน้าสายงานด้านดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ลงนามความร่วมมือโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายสังคมดิจิทัล ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสุทธิ สภาดิจิทัลฯ ถนนเพชรบุรี
ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า “สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรกลางที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง จึงได้ริเริ่มโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายสังคมดิจิทัล โดยร่วมมือกับมูลนิธิตะวันฉายฯ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ร่วมกันส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียม โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และผู้ที่มีความพิการทางใบหน้า ให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลและบริการทางการแพทย์ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสที่ดีกว่าในอนาคต ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และสร้างสังคมที่เท่าเทียมให้กับทุกคน”
ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ กล่าวว่า “ขอบคุณความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลฯ และพันธมิตร ที่ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และครอบครัวเข้าถึงข้อมูลและบริการทางการแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งการลงทะเบียน การปรึกษาแพทย์ ไปจนถึงการดูแลตนเองที่บ้าน โดยการนำเทคโนโลยี Telemedicine มาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวอย่างครอบคลุม ทั้งนี้ การทำงานร่วมกับสภาดิจิทัลฯ และพันธมิตร จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างครบวงจร และขยายผลไปยังผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น”
นายวิลาส เตโช ผู้อำนวยการสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวว่า “การร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่สมาคมฯ จะได้นำความรู้และเครือข่ายในพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ห่างไกล โดยหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้คนในชุมชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และสามารถส่งเสริมสุขภาพอนามัยของตนเองและครอบครัวได้มากขึ้น ทั้งนี้ การร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน จะช่วยให้สามารถขยายผลโครงการไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน”
นายชาง ฟู หัวหน้าสายงานด้านดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผู้ให้บริการดิจิทัลครบวงจร ในเครือ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่นมีความยินดีที่ได้นำความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน ร่วมช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง ตอกย้ำความตั้งใจของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในการสนับสนุนให้คนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง โดยความร่วมมือในโครงการนี้ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเทเลแคร์ (Telecare) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการแต่กำเนิดทางศีรษะและใบหน้าสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการรักษาโรคได้อย่างต่อเนื่องสะดวก และรวดเร็ว โดยสามารถนัดหมายและพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการรอคิวที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังเพิ่มขีดความสามารถให้แพทย์และบุคลากรการแพทย์สามารถจัดการนัดหมายและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยทั่วประเทศผ่านแพลตฟอร์มเทเลแคร์ แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้นและติดตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จะเดินหน้าพัฒนาบริการดิจิทัลด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นแบบยั่งยืนของคนไทยทั่วประเทศ”
นายลักษมณ์ เตชะวันชัย รองประธานสภาดิจิทัลฯ ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิวัติวงการแพทย์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2567 พบว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคสุขภาพอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพตนเอง การให้บริการทางการแพทย์ หรือการบริหารจัดการระบบสุขภาพ โดยเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ ลดต้นทุน และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้สะดวกยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติวงการแพทย์ โดยใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ และพัฒนายารักษาโรคใหม่ๆ ได้
ภายในงาน ยังมีการเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา ได้แก่ รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กรรมการแพทยสภา และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายประกอบ จ้องจรัสแสง รองประธานสภาดิจิทัลฯ, พ.ญ. พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล CEO และ Co-founder Chiiwii และกรรมการสภาดิจิทัลฯ และ พว.ยุพิน ปักกะสังข์ พยาบาลชำนาญการ (ผู้ประสานงานการดูแลฯ และผู้จัดการรายกรณีของศูนย์ตะวันฉาย) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “โอกาส ทิศทาง และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย”
สำหรับ โครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายสังคมดิจิทัล มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ ข่าวสารเกี่ยวกับโรค วิธีการดูแลตนเอง และปรึกษาแพทย์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและการใช้ 5G ของกลุ่มเปราะบาง ตั้งเป้า 500 รายในระยะแรก และขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ในอนาคต
تعليقات