ทำความรู้จัก Digital Nutrition ถึงเวลาเลือกคุณค่าทางโภชนาการเนื้อหาดิจิทัล
Summary
สถิติข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ของ We Are Social ปี 2023 พบว่าคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สูงถึง 85.3% โดยใช้เวลาบนโลกออนไลน์ถึง 8 ชั่วโมง/วัน และมีบัญชีโซเชียลในแพลตฟอร์มต่าง ๆ สูงถึง 7 แพลตฟอร์ม/คน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจ รวมถึงพฤติกรรมในระยะยาว
การบริโภคสื่อดิจิทัลเปรียบได้กับการเลือกรับประทานอาหาร ที่มีการคิดคำนวณสารอาหารตามหลักโภชนาการ ดังนั้นการบริโภคสื่อก็จำเป็นต้องมีแนวทางตามแบบฉบับโภชนาการเพื่อการจัดการสุขภาพจากการเสพสื่อดิจิทัลที่เหมาะสมเช่นกัน
Digital Nutrition หรือโภชนาการด้านดิจิทัล คือการจัดการการใช้งานสื่อดิจิทัลอย่างสมดุลเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว เปรียบได้กับตารางโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ผู้บริโภคเลือกได้ว่ากำลังจะบริโภคเนื้อหาประเภทใด และให้สารอาหารแบบใดต่อร่างกายและจิตใจ
Digital Nutrition ต่างจาก Social Detox ที่เชื่อว่าความถี่ในการเปิดรับดิจิทัลคอนเทนต์ไม่อันตรายเท่าการบริโภคเนื้อหาตามใจอยาก
You Are What You Scroll Through บริโภคสื่ออย่างไร ร่างกาย(และจิตใจ)เป็นอย่างนั้น เมื่อจะต้องบริโภคเนื้อหาดิจิทัลในครั้งต่อไป อย่าลืมเลือกคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อหาดิจิทัลให้กับตัวเอง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
Tech By True Digital นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดิจิทัลไลฟ์สไตล์มาอย่างต่อเนื่อง ในตอนนี้เราอยากชวนผู้อ่านให้ลองทบทวนการบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์ของตนเอง ว่าในแต่ละวันได้ใช้เวลาบนสื่อดิจิทัลมากน้อยแค่ไหน เสพสื่อประเภทไหนบ้างและมีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างไร เพราะเรากำลังจะพาไปทำความรู้จักกับ Digital Nutrition หรือโภชนาการด้านดิจิทัล บริการเพื่อการจัดการสุขภาพจากการบริโภคสื่อดิจิทัลในรูปแบบใหม่ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในการสร้างสมดุลการใช้งานดิจิทัลในระยะยาว
ทำไมต้องมี Digital Nutrition
อันที่จริงแล้วการบริโภคสื่อบนดิจิทัลแพลตฟอร์มของเราในแต่ละวัน ก็อาจเปรียบได้กับการเลือกรับประทานอาหารที่ยังมีการคิดคำนวณว่าสารอาหารที่เข้าสู่ร่างกายเพียงพอ เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายเรา และถูกต้องตามหลักโภชนาการแล้วหรือไม่ ดังนั้นการบริโภคสื่อในแต่ละครั้งก็จำเป็นต้องมีแนวทางตามแบบฉบับโภชนาการเพื่อการจัดการสุขภาพการเสพสื่อดิจิทัลที่เหมาะสมกับเราเช่นกัน
จากสถิติข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ Thailand Digital Stat Insight 2023 รายงาน Digital 2023 Global Overview Report ของ We Are Social ปี 2023 พบว่า สัดส่วนคนไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มีสูงถึง 85.3% โดยคนไทยใช้เวลาบนโลกออนไลน์ถึง 8 ชั่วโมง/วัน และมีบัญชีโซเชียลในแพลตฟอร์มต่าง ๆ สูงถึงเฉลี่ย 7 แพลตฟอร์ม/คน โดยมีงานศึกษาวิจัยที่ชี้ว่าการบริโภคสื่อดิจิทัลที่มากเกินไปในแต่ละวันอาจส่งผลต่อสุขภาพใจ ก่อให้เกิดภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้า รวมทั้งความกังวลด้านสุขภาพกาย เช่น ภาวะเสื่อมถอยของสมองด้านการเรียนรู้และความจำจากการพึ่งพาสื่อดิจิทัล เป็นต้น
เราจึงได้เห็นบริการหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยปรับวิถีการบริโภคสื่อดิจิทัล ตั้งแต่การให้คำแนะนำเพื่อจำกัดเวลาการใช้งาน อาทิ โปรแกรม Screen Time ของ Apple ที่มีไว้เพื่อให้เจ้าของเครื่องตรวจสอบการใช้งานว่าในแต่ละวันเราใช้เวลาไปกับแอปพลิเคชันใด เป็นระยะเวลาเท่าไรบ้าง เพื่อให้เราสามารถปรับเปลี่ยนหรือจำกัดเวลาการใช้แอปต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง หรือโปรแกรมการบำบัดอาการเสพติดโซเชียลในบริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา หรือกระทั่งการทำ Social Detox ง่าย ๆ ด้วยตนเอง
Screen Time จาก Apple
ที่มา: https://apple.com/th/
แต่ปัจจุบันมีบริการรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้จำกัดความถี่ของการใช้งานดิจิทัลแต่เป็นการบริหารจัดการการบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์ในวิธีการที่แตกต่างออกไปหรือที่เรียกว่า Digital Nutrition หรือโภชนาการด้านดิจิทัล ซึ่งเปรียบได้กับรูปแบบเดียวกับการเลือกรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ นั่นคือการเลือกบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์แบบถูกหลักโภชนาการ นั่นเอง
Digital Nutrition คืออะไร
Digital Nutrition หรือโภชนาการด้านดิจิทัล คือการจัดการการใช้งานดิจิทัลคอนเทนต์อย่างสมดุลเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงานที่ต้องใช้เทคโนโลยี โดยยังมีสุขภาพทางกายและใจที่ดีจากการใช้สื่อดิจิทัล โดยบริษัทผู้ริเริ่มพัฒนา Digital Nutrition คือ AeBeZe Laboratories ผู้พัฒนาตารางธาตุทางโภชนาการแบบดิจิทัล หรือฉลากโภชนาการแบบดิจิทัล และแผนโภชนาการแบบดิจิทัลส่วนบุคคล เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพด้านดิจิทัล สร้างสมดุลการใช้งานดิจิทัลอย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพทางกาย พฤติกรรมและอารมณ์ที่แข็งแรงขึ้นเมื่อบริโภคสื่อดิจิทัล
ตารางธาตุทางโภชนาการแบบดิจิทัลของ AeBeZe Labs ประกอบด้วยกลุ่มอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับการทำงานของสารสื่อประสาทหรือ Neurotransmitter และฮอร์โมนของร่างกายและกลุ่มที่ไม่ใช่สารสื่อประสาทแต่เป็นส่วนผสมของสารสื่อประสาท ซึ่งเกิดจากการประยุกต์ศาสตร์ประสาทวิทยา (Neuroscience) แล้วนำมาวิเคราะห์กับเนื้อหาหรือคอนเทนต์บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น วิดีโอ เพลง บทความ ว่าคอนเทนต์เหล่านี้ เมื่อได้ดู ได้ฟังแล้ว จะกระตุ้นให้สมองปล่อยสารสื่อประสาทชนิดใดออกมาบ้าง
เช่น การดูภาพหรือคลิปวิดีโอของเด็กทารกหรือสัตว์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมน Oxytocin ที่ทำให้รู้สึกถึงความรัก ความผูกพันธ์ สายสัมพันธ์ ความเชื่อใจและช่วยในการเข้าสังคม การดูคลิปป่า ภูเขา ทะเล ร่างกายจะผลิต Gaba ที่ทำให้รู้สึกสงบ ควบคุมอารมณ์ และรักษาระดับของความกังวลได้ดีขึ้น หรือหากดูคลิปหนังแอคชั่น ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมน Testosterone ส่งผลให้เรารู้สึกแข็งแรง มีกำลังวังชา เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าสารอาหารที่ได้จากดิจิทัลคอนเทนต์นั้น ๆ มีผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ หรือสุขภาพโดยรวมต่อผู้บริโภคคอนเทนต์นั้นอย่างไร
--- รูปภาพที่เมื่อได้ดู ร่างกายจะผลิต GABA ออกมาเพื่อทำให้รู้สึกสงบและรักษาระดับของความกังวล ---
Elements of Digital Nutrition ของ Aebeze Labs หรือตารางธาตุทางโภชนาการแบบดิจิทัล แบ่งออกเป็น 8 องค์ประกอบกลุ่มอารมณ์ ได้แก่
8 องค์ประกอบกลุ่มอารมณ์ หรือ Elements of Digital Nutrition ของ Aebeze Labs
Happiness เชื่อมโยงกับฮอร์โมน Serotonin ช่วยเรื่องความสมดุลทางอารมณ์ ความสุข ลดความวิตกกังวล และเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารและระบบย่อยอาหาร
Calm เชื่อมโยงกับ Gaba สารสื่อประสาทที่ช่วยรักษาสมดุลในสมอง ลดการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมอง ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย สงบ และนอนหลับได้ดีขึ้น
Energy เชื่อมโยงกับฮอร์โมน Endorphins หรือสารแห่งความสุข ช่วยผ่อนคลาย ระงับความเจ็บปวด สร้างความสุขและความพึงพอใจ กระตุ้นความรู้สึกในแง่บวกเมื่ออยู่ในภาวะเครียด
Focus เชื่อมโยงกับ Acetylcholine ช่วยเรื่องความจำ กระตุ้นการตื่นตัว ความสนใจ และการเรียนรู้
Motivation เชื่อมโยงกับสารสื่อประสาท Dopamine ที่ทำให้เกิดการตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิ และไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น
Connection เชื่อมโยงกับฮอร์โมน Oxytocin หรือฮอร์โมนแห่งความรัก ที่ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพัน ความเชื่อใจ และส่งผลต่อการเข้าสังคม
Strength เชื่อมโยงกับฮอร์โมน Testosterone ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและความยืดหยุ่นทางอารมณ์ กระตุ้นพลังงาน แรงขับเคลื่อนทางเพศ และสุขภาพจิตที่ดี
Imagination อยู่ในระหว่างการทดลอง Experimental Medicine ที่ไม่ใช่สารสื่อประสาทโดยตรงแต่เป็นส่วนผสมของสารสื่อประสาทหลายตัวที่ช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คอนเทนต์จากกลุ่ม Imagination จะกระตุ้นให้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ
นอกเหนือจากตารางธาตุโภชนาการดิจิทัลเพื่อวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการในเนื้อหาดิจิทัลแล้ว Aebeze Labs ยังร่วมกับ Partners เพื่อให้ Digital Nutritions นี้นำไปสู่การใช้งานได้จริง ด้วยการพัฒนาโปรแกรมเพื่อแนะนำ วางแผน และจัดสรรการใช้เวลาและบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์ ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ
Moodrise แอปพลิเคชันเพื่อแนะนำคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อหาดิจิทัลแบบเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ใช้แต่ละราย โดยจะประเมินจากอารมณ์และความรู้สึกปัจจุบันว่าผู้ใช้ยังขาดโภชนาการดิจิทัลประเภทไหน ก่อนทำการเสนอโภชนาการที่ขาดไปในรูปแบบของคอนเทนต์บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม อาทิ วิดีโอ เพลง บทความ เกมสั้น ๆ เพื่อช่วยให้การบริโภคเนื้อหาดิจิทัลที่กำลังจะเกิดขึ้นได้รับสารอาหารที่ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ยังมีไม่เพียงพอ
Moodrise app
ที่มา: https://moodrise.co/
Moodrise 1000 เว็บไซต์ที่รวบรวมดิจิทัลคอนเทนต์วิดีโอที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด 1,000 ชั่วโมง จากดิจิทัลแพลตฟอร์ม อาทิ Netflix, Vimeo, Hulu และ Prime Video โดยถูกจัดประเภทตามคุณค่าทางโภชนาการดิจิทัลที่ผ่านการตรวจสอบจากนักวิจัยและแพทย์ทางประสาทวิทยา โดยเนื้อหาแต่ละชิ้นจะมีป้ายกำกับเกี่ยวกับกลุ่มอารมณ์และสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น หากรู้สึกวิตกกังวล ผู้ใช้สามารถคลิกเนื้อหา "Calm" เพื่อเพิ่มสารสื่อประสาท GABA เป็นต้น
--- Moodrise 1000 ประเภทสารสื่อประสาท GABA ---
Pillcast™ รวบรวมดิจิทัลคอนเทนต์ในรูปแบบพ็อดคาสต์ เป็นเพลย์ลิสต์ที่แยกประเภทตามกลุ่มอารมณ์สำหรับเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคดิจิทัลคอนเทนต์ที่ชื่นชอบการฟัง โดยสามารถเลือกเนื้อหาที่มีโภชนาการทางดิจิทัลให้กับตัวเอง
Pillcast Podcast
ที่มา: ที่มา: https://www.facebook.com/aebezelabs
ปัจจุบันเริ่มมีบริการที่เกี่ยวข้องกับ Digital Nutrition มากขึ้น อาทิ Daybreak ที่นำเสนอเซ็ตรูปภาพวิดีโอและเสียงที่คัดสรรมาว่าส่งผลที่ดีต่อเคมีในสมองและยกระดับอารมณ์ของผู้ใช้งานเพื่อให้รู้สึกดีขึ้นหลังจากที่ได้บริโภคเนื้อหาจากแอปพลิเคชันนี้ โดยอ้างอิงหลักโภชนาการด้านดิจิทัล 8 องค์ประกอบกลุ่มอารมณ์จาก AeBeZe Labs เช่นเดียวกัน
แอปพลิเคชัน Daybreak
Digital Nutrition ต่างจาก Social Detox อย่างไร
Digital Nutrition มีวิธีคิดที่ต่างจาก Social Detox หรือการล้างพิษและการกำจัดเวลาหน้าจออยู่ที่ว่า “Less content is great, but healthier content is even better.” ซึ่งหมายถึง อันตรายต่อสุขภาพกายและใจโดยรวมนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความถี่ในการเปิดรับสื่อดิจิทัลในแต่ละวัน แต่เกิดจากการบริโภคเนื้อหาตามอำเภอใจต่างหาก เมื่อเนื้อหาที่ดีต่อสุขภาพย่อมดีกว่าทำให้ Digital Nutrition ของ AeBeZe Labs จึงเปรียบเหมือนกับตารางโภชนาการที่อยู่บนหน้าบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ผู้บริโภคจะสามารถเลือกได้ว่ากำลังจะบริโภคเนื้อหาประเภทใด แล้วจะได้คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อหาดิจิทัลประเภทไหนให้กับตนเอง
Digital Nutrition จึงไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้เริ่มตระหนักว่าการบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกใดต่อตนเอง แต่ฝั่งผู้ผลิตเองก็ยังสามารถนำฉลากโภชนาการดิจิทัลนี้ไปเป็นบรรทัดฐานในการผลิตเนื้อหาที่ได้มาตรฐานทางโภชนาการด้านดิจิทัลด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างสังคมแห่งการตระหนักรู้ต่อการบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์อย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพทางกายและใจที่สมดุลของผู้คนในสังคม
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในทุกวันนี้ การใช้ชีวิตหรือการทำงานของเรานั้นล้วนผูกติดอยู่กับดิจิทัลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การปฏิเสธการใช้สื่อดิจิทัลไปเลยนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายแต่การสร้างสมดุลเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาวนั้นอาจเป็นเรื่องที่เราสามารถเริ่มต้นทำได้ เมื่อ You Are What You Scroll Through เสพสื่ออย่างไร ร่างกาย(และจิตใจ)เป็นอย่างนั้น ดังนั้นเมื่อจะต้องบริโภคเนื้อหาดิจิทัลในครั้งต่อไป ก็อย่าลืมเลือกคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อหาดิจิทัลให้กับตัวเอง
#โภชนาการดิจิทัล
ที่มา:
Comments