top of page

สรุป 3 Bites จากรายการ Tech-a-Bite Ep 6: Working in a Metaverse ทำงานจริงบนโลกเสมือน

Updated: May 24, 2022



เมื่อพูดถึง “Metaverse” หลาย ๆ คนอาจนึกภาพถึงภาพยนตร์ไซไฟสุดล้ำ หรือภาพจอโปร่งแสงที่ลอยพุ่งออกมาจากที่ต่าง ๆ แต่เชื่อหรือไม่ บางที “Metaverse” อาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด และคุณเองก็อาจกำลังอยู่ในนั้นด้วย!



ในรายการ “Tech-a-Bite” เทคนิดนิด ขนาดพอดีคำ จากทรู ดิจิทัล กรุ๊ป รายการที่จะนำคุณอัปเดตเทรนด์นวัตกรรมและเทคโนโลยีน่าสนใจ เพื่อมาปลดล็อกทุกความเป็นไปได้ให้กับโลกใบนี้ ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา เราชวนคุณอรรถพล สินฉลอง Managing Director, True Virtual World (True VWORLD) มาร่วมพูดคุยกับเราเป็นครั้งที่สองเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “Metaverse” จักรวาลนฤมิตนี้คืออะไร กำลังพาเราไปที่ไหน และที่ทำงานของคุณจะกลายเป็นจักรวาลใหม่ด้วยหรือเปล่า โดยเราสรุปออกมาเป็นสิ่งน่ารู้พอดีคำ 3 คำ ดังนี้


Bite #1: “Metaverse” คำนี้ 30 ปีมาแล้ว


แม้หลาย ๆ คนอาจเพิ่งได้คุ้นหูกับคำว่า “Metaverse” ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำนี้มีต้นกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ของ Neal Stephenson ชื่อ “Snow Crash” ที่กล่าวถึงพื้นที่เสมือนจริงที่คนสามารถสร้างอวตารของตนเพื่อปฎิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องพื้นที่เสมือนนี้กลับเข้ามาเป็นที่สนใจอีกครั้งในสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง “Ready Player One” ในปี 2018 โดยมีการฉายภาพให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น VR (Virtual Reality) AR (Augmented Reality) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งในช่วงยุคปัจจุบัน สามารถจับต้องได้มากขึ้นจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาจนแทบทัดเทียมจินตนาการในอดีต รวมไปถึงการเข้ามาของบริษัทเทครายใหญ่ ที่ทำให้การเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีเป็นไปได้มากขึ้น


ทั้งนี้ สิ่งที่อาจทำให้คำว่า “Metaverse” ติดหูคนในวงกว้างมากที่สุดในช่วงระยะหลัง อาจเป็นก้าวสำคัญของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ที่เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น “Meta” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการมุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse อย่างเต็มที่ ในขณะที่บริษัทเทคเจ้าตลาดอื่น ๆ อย่าง Microsoft เองก็มีทีมงานที่ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาอุปกรณ์และศึกษาความเป็นไปได้ของ Metaverse โดยเฉพาะ


Bite #2: ใคร ๆ ก็อยู่ใน Metaverse (รวมทั้งคุณด้วย)


ในบทสนทนาเกี่ยวกับ Metaverse เราอาจเคยได้ยินการถกเถียงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ องค์ประกอบ และแนวคิดของคำจำกัดความคำว่า “Metaverse” ที่แตกต่างออกไป เช่น หลายคนอาจกล่าวว่า Metaverse ควรอยู่บน Web 3.0 ใช้ Blockchain ใช้คอยน์ หรือมุ่งสู่จุดประสงค์ของการกระจายอำนาจและการเข้าถึง (Decentralisation) ของการใช้งานต่าง ๆ แต่โดยพื้นฐานแล้ว คุณอรรถพลและหลาย ๆ ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเห็นตรงกันว่า รากฐานของแนวคิด คือการเอื้ออำนวยให้คนสามารถใช้พื้นที่เพื่อแสดงตัวตนบนโลกเสมือน (Virtual World) เช่น เกมจำลองบทบาทสมมติ (Role-Playing Game หรือ RPG) อย่าง Ragnarok ที่มีการสร้างอวตาร มีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนในเกม และการสร้างคอมมูนิตี้ภายในแพลตฟอร์มของเกม ก็ถือว่าเป็น Metaverse เช่นกัน หรือแม้แต่การประชุมออนไลน์ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยมากขึ้นในช่วงระยะหลังเองก็ตาม


โดยปัจจุบัน หลาย ๆ อุตสาหกรรมก็เริ่มนำแนวคิดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้กับช่องทางการตลาด หรือโมเดลธุรกิจของตน เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มนำเสนอการขายผ่านรูปแบบ VR และ AR หรือกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินที่ศึกษาแนวคิด Decentralisation และนำมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เป็นต้น


นอกจากการปรับใช้ดังกล่าวนี้แล้ว แพลตฟอร์ม Virtual World ที่มีฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่ เช่น เกม Roblox และ Fortnite ยังได้มีการจับมือร่วมสร้างสรรค์แบบข้ามอุตสาหกรรม (Cross Industry Vertical) เช่น Gucci ที่จัดพื้นที่ “Gucci Garden” ภายในเกม Roblox เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในรูปแบบ Immersive Experience กับลูกค้า ผ่านการนำเสนอแบรนด์ ไอเท็ม และอีเวนต์พิเศษภายในเกม หรือการที่ศิลปินใช้พื้นที่บนแพลตฟอร์มเพื่อสร้างไลฟ์อีเวนต์และคอนเสิร์ตต่าง ๆ ในช่วงที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับโรคระบาด เป็นต้น


ทั้งนี้ สำหรับทรู ดิจิทัล กรุ๊ป คุณอรรถพลได้กล่าวว่า ในส่วนของการเรียนการสอน ได้มีการนำเทคโนโลยี VR/AR เข้ามาใช้แล้ว และได้ทดลองเริ่มทำการตลาดกับ Virtual Influencer ต่าง ๆ รวมทั้งการเปิดตัว Vtuber สัญชาตไทยในสังกัด เช่น Chana (ชาน่า) นอกจากนี้ ในรายการ Tech-a-Bite ครั้งนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าได้สัมผัสประสบการณ์บนโลก Metaverse กับ “True Virtual World Powered by Spot” อีกด้วย เช่นเดียวกับบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัลในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จึงได้เลือกทดลองและศึกษาความเป็นไปได้ของ Metaverse โดยการมองหาโอกาสใหม่ ๆ เช่นกัน


รายการ Tech-a-Bite บนโลก Metaverse

รับชม Tech-a-Bite Ep.7 Working in a Metaverse ทำงานจริงบนโลกเสมือน ย้อนหลังได้ที่


Bite #3: ทำงานจริงบนโลกเสมือน


ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังโรคระบาดมีแนวโน้มที่ดีในการควบคุมการแพร่กระจาย ทำให้หลายองค์กรที่ได้ลองรูปแบบการทำงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Fully-Remote หรือการทำงานแบบ Hybrid ที่อาจตัดสินใจคงรูปแบบการทำงานดังกล่าวตามเดิมผสมผสานกับการทำงานรูปแบบใหม่ ด้วยเหตุผลข้อดีหลายประการ โดยในโอกาสนี้ คุณอรรถพลได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำ Metaverse เข้ามาเอื้ออำนวยในการทำงานแบบใหม่นี้ โดยนอกจากจะมีโจทย์หลักเกี่ยวกับการสร้างประสบการณ์การทำงาน (Employee Experience) เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากการสร้างความผูกพันต่อองค์กร (Employee Engagement) แล้ว การนำแนวคิด Metaverse เข้ามาใช้ยังมีประโยชน์หลักๆ 4 ข้อ ดังนี้


1. Immersive Team Collaboration

โดยเฉพาะผู้ที่เคยทำงานในออฟฟิศมาก่อน อาจรู้สึกว่าการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในช่วงเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างวันที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานได้หายไปกับการทำงานรูปแบบใหม่นี้ เช่น การออกไปทานข้าวกลางวันด้วยกัน การพูดคุยจิปาถะระหว่างวัน หรือกิจกรรมนอกเวลาอื่น ๆ หรือแม้แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างการประชุมระดมสมอง (Brainstorm) ก็อาจทำได้อย่างไม่เต็มที่หรือเป็นธรรมชาติ โดยการนำ Metaverse เข้ามาปรับใช้ จะช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้ได้ ผ่านการสร้างประสบการณ์เสมือนที่เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแบบสบาย ๆ มากขึ้น


2. AI-Enabled Colleague

เพื่อลดปัญหาการใช้เวลาและแรงงานคนในการทำงานหรือตอบคำถามซ้ำ ๆ ที่มักพบบ่อย ในโลก Metaverse เราสามารถสร้าง “เพื่อนร่วมงาน AI” ที่เราสามารถเดินไปถามคำถามซ้ำ ๆ ได้อย่างไม่เบื่อหน่าย คล้ายตัวละคร NPC (Non-Playable Character) ในเกมที่สามารถให้ข้อมูลได้ตลอดเวลา


3. เพิ่มทักษะการเรียนรู้หลากหลาย

การเรียนรู้ในโลกเสมือน นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนและภาระการเดินทางแล้ว โลกเสมือนยังสามารถสร้างเหตุการณ์และสถานการณ์จำลองที่หลากหลายเพื่อการฝึกฝนในหลายสาขาอาชีพ เช่น นักบิน ที่สามารถเรียนรู้ในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ บน Simulator ผ่าน VR


4. Reward Recognition

ด้วยการนำแนวคิดแบบ Gamification เข้ามาปรับกับรูปแบบการทำงานใหม่ เช่น การมอบไอเท็มหรือคอยน์ในโลกเสมือนเพื่อสร้าง Work to earn โมเดลภายในที่สามารถต่อยอดออกไปสู่ความเป็นไปได้อื่น ๆ ในอนาคต


สามารถติดตามรายการ Tech-a-Bite ครั้งต่อไปได้ในวันศุกร์ที่ 20 พ.ค. 2565 เวลา 18:00 - 18:30 น. บนหน้าเฟซบุ๊ค “True Digital Group” (https://www.facebook.com/TDGgroup/)


-------------------------------------------------------

รับชมย้อนหลังได้บนช่องทางต่างๆ ดังนี้

บันทึกรายการ

Facebook: https://bit.ly/facebook-tech-a-bite

YouTube: https://bit.ly/youtube-tech-a-bite


พ็อดแคสต์:

YouTube: https://bit.ly/youtube-techbytruedigital-podcast

Blockdit: https://bit.ly/blockdit-techbytruedigital-podcast


อย่าลืมกดกระดิ่ง/ติดตาม เพื่อไม่พลาดคอนเทนต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะปลดล็อกทุกความเป็นไปได้ไปด้วยกัน กับ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป


-------------------------------------------------------

เกี่ยวกับ True VWORLD

กลุ่มโซลูชันและแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ทางทรู คอร์ปอเรชั่น ทรูดิจิทัล กรุ๊ป และพาร์ทเนอร์ร่วมกันพัฒนา เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเรียนและทำงานจากหรือที่ใดก็ได้ โดยปัจจุบันนำเสนอโซลูชัน 3 ตัวหลัก ได้แก่


True VROOM โซลูชัน Video Conference ที่ทำให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อ ทำงาน หรือเรียนรู้ร่วมกันจากที่ใดก็ได้ ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ


True VWORK โซลูชันเพื่อการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน


True VLEARN โซลูชันเพื่อการศึกษา เชื่อมต่อระหว่างผู้สอนและนักเรียนบนโลกออนไลน์


สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและใช้งานได้ที่ https://truevirtualworld.com/


#โลกเสมือนจริง

Comments


bottom of page