เทคโนโลยี AI เตือนภัย Heat Stroke
คำกล่าวที่ว่า เมืองไทยมีแต่หน้าร้อนกับหน้าร้อนกว่า ไม่เกินจริงเลย กับบางวันที่อุณหภูมิอาจสูงถึง 42 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะกับคนที่จำเป็นต้องใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมกลางแดด ความร้อนเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคลมร้อนหรือลมแดด หรือที่เรียกว่า ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อนที่มีความรุนแรงมากที่สุด และอาจมีอันตรายถึงชีวิต
เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์ Tech By True Digital พาไปดูตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อช่วยปกป้องผู้คนจากภาวะเจ็บป่วยเหล่านี้
โรคฮีทสโตรก เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนในร่างกาย เนื่องจากการทำกิจกรรมอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานล้มเหลว โดยกลุ่มเสี่ยงหลักคือ ผู้ที่มีอาชีพทำงานกลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น งานรับจ้าง ก่อสร้าง เกษตรกร หรือแม้แต่นักกีฬา ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ข้อมูลจากกองระบาด กรมควบคุมโรค พบว่า ในประเทศไทย ระหว่างเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคมของปี 2558-2562 มีผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนโดยเฉลี่ยในแต่ละปีถึง 43 ราย โดยการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากฮีทสโตรกในช่วงหน้าร้อนนั้นไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ด้วยสภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จึงส่งผลโดยตรงต่อการเจ็บป่วยจากฮีทสโตรก ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และความรุนแรงที่มากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ เทคโนโลยีเพื่อป้องกันภาวะเจ็บป่วยจากอากาศร้อน ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น โรงงาน ไซต์ก่อสร้าง หรือการจัดการแข่งขันกีฬากลางแจ้งนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นเทคโนโลยีเพื่อบอกลักษณะของอากาศแวดล้อม ณ ขณะนั้น เช่น ค่าความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ ดัชนีรังสี UV แบบเรียลไทม์ หรือ ค่าความเร็วลม เพื่อพิจารณาว่าปัจจัยแวดล้อมใดบ้างที่อาจเป็นอันตรายต่อคนทำงานหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานประเมินการพักงานกลางแจ้ง หรือประเมินการใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อลดอุณหภูมิของอากาศให้ต่ำลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อการแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงต่อภาวะฮีทสโตรกในรายบุคคล เพราะปัจจัยสำคัญต่อความเสี่ยงนั้น ครอบคลุมไปถึงมิติต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล เช่น อุณหภูมิแกนกลางของร่างกายแต่ละคน โรคประจำตัว ลักษณะเสื้อผ้าที่สวมใส่ และอุปกรณ์ป้องกันความร้อนต่างชนิดกัน ที่ล้วนส่งผลต่อการเกิดภาวะเจ็บป่วย
--- อุปกรณ์แจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อนในอากาศ HATACS (Humidity And Temperature Alert Control System) ของกรมแพทย์ทหารบก ---
ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีมาที่นำปรับใช้เพื่อแจ้งเตือนสัญญาณการเกิดฮีทสโตรกจึงมีความสามารถที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และมีการนำเทคโนโลยี AI และ Cloud เข้ามาใช้เพื่อประมวลผลข้อมูลของร่างกายที่เป็นสัญญาณบ่งชี้การเกิดโรค โดยมีตัวอย่างเทคโนโลยีที่น่าสนใจ อาทิ
ระบบ AI ตรวจวัดสีปัสสาวะและสภาพอากาศอัตโนมัติเพื่อประมวลผลความเสี่ยงจากฮีทสโตรก
เครื่องมือตรวจวัดสีปัสสาวะและสภาพอากาศแบบอัตโนมัติเพื่อประมวลความเสี่ยงและเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากฮีทสโตรก
ที่มา: https://www3.rdi.ku.ac.th/
นวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ได้รับรางวัลเหรียญทองระดับโลกจากงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติแห่งเจนีวา ประจำปี 2021 (The 48th International Exhibition of Inventions Geneva) ที่ผ่านมา กลุ่มนักวิจัยชาวไทยจากหลากหลายสถาบัน นำโดย ผศ.ดร.นริศ หนูหอม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนา ระบบ AI เครื่องมือตรวจวัดสีปัสสาวะและสภาพอากาศแบบอัตโนมัติเพื่อประมวลความเสี่ยงและเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากโรคลมร้อน (Automatic Urine Color and Weather Measurement Tool for Risk Assessment and Prevention of Heat Stroke) เพื่อนำมาใช้กับการฝึกทหารใหม่ที่ต้องรับการฝึกกลางแจ้งเป็นเวลานาน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรก ได้
เครื่องมือนี้ทำงานด้วย 2 ปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค นั่นคือ การตรวจปัสสาวะซึ่งเป็นปัจจัยรายบุคคล และการตรวจสภาพอากาศซึ่งเป็นปัจจัยแวดล้อม ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยจะถูกเก็บบันทึกข้อมูลในระบบ Cloud ก่อนนำไปประมวลผลเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรกรายบุคคลด้วย AI แล้วส่งผลให้ครูฝึกติดตาม และแนะนำแนวทางการฝึกปฏิบัติที่เหมาะสมกับทหารฝึกกลุ่มเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบนี้ทำงานด้วยการใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงกัน 3 ระบบ คือ
1. เครื่องตรวจสีปัสสาวะ ทำงานโดยใช้เซ็นเซอร์ร่วมกับ AI ในการตรวจระดับความเข้มของสีปัสสาวะอัตโนมัติ ซึ่งค่าสีปัสสาวะจะบ่งชี้ภาวะขาดน้ำและแสดงถึงความเสี่ยงเกิดฮีทสโตรกได้ โดยปัสสาวะของทหารแต่ละนายที่ถูกส่งมา จะถูกอ่านค่าระดับสี และค่าอุณหภูมิของสีปัสสาวะ แล้วถูกส่งไปบนระบบ Cloud เพื่อให้ AI ประมวลผลความเสี่ยงการเกิดฮีทสโตรก ผ่านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเรียงลำดับความเสี่ยงโรคเป็น 5 ระดับ มีค่าความแม่นยำสูงถึง 93% และใช้เวลาวัดระดับค่าสีเพียง 5 วินาทีต่อคน
2. เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ สำหรับใช้ในพื้นที่ฝึกภาคสนาม เป็นการเก็บข้อมูลสภาพอากาศเข้าสู่ระบบ Cloud ทุก ๆ 3 วินาที แล้วส่งผลไปยังสีสัญญาณธงของสถานที่ฝึกโดยอัตโนมัติ เพื่อระบุสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ขณะเดียวกันก็จะส่งสีสัญญาณธงเดียวกันนี้ไปที่แอปพลิเคชันของครูฝึกด้วย เพื่อเตือนครูฝึกว่าสภาพอากาศ ณ เวลานี้เป็นอย่างไร ควรจัดการฝึกแบบใด หยุดพักนานเท่าใด ให้ครูฝึกเริ่มและหยุดฝึกรายชั่วโมงตามเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันการเกิดฮีทสโตรก ที่มีปัจจัยมาจากสภาพอากาศด้วย
3. ระบบ AI ประเมินความเสี่ยง เป็นระบบประมวลผลความเสี่ยงการเกิดฮีทสโตรก จากข้อมูลสีปัสสาวะ อุณหภูมิร่างกาย และน้ำหนักของทหารรายบุคคล ซึ่งเป็นการประเมินทั้งก่อนฝึก ขณะฝึก และก่อนนอน โดยใช้เวลาเพียง 5 วินาที ในขณะเดียวกัน ระบบ AI นี้ก็ใช้ในการตรวจวัดสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ซึ่งแสดงผลโดยสรุปในรูปแบบที่เข้าใจง่าย มีประสิทธิภาพ ผ่านหน้าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของผู้ใช้งาน
หูฟังตรวจสอบการเต้นของหัวใจและอุณหภูมิร่างกาย ตรวจจับสัญญาณการเกิดฮีทสโตรก
--- หูฟังตรวจสอบการเต้นของหัวใจและอุณหภูมิร่างกาย โตเกียวโอลิมปิก 2020 ---
ที่มา: https://www.reuters.com/
ในช่วงหน้าร้อนของปี 2020 โตเกียวมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อนเกือบ 200 ราย ทำให้ผู้จัดงานโตเกียวโอลิมปิก 2020 ต้องหามาตรการรับมือกับภาวะเจ็บป่วยจากอากาศร้อนโดยเฉพาะฮีทสโตรก ที่มักเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันกีฬา ซึ่งความเสี่ยงฮีทสโตรก ไม่เพียงเกิดขึ้นกับนักกีฬาเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันที่ต้องทำงานกลางแจ้งที่ทั้งร้อนและอบอ้าวในช่วงเดือนกรกฎาคมของโตเกียว ก็ทำให้ผู้จัดงานเพิ่มมาตรการรับมือกับความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ อาทิ การจัดสเปรย์น้ำ พัดลมไอน้ำในพื้นที่การแข่งขันกลางแจ้ง การออกแบบเสื้อระบายความร้อนสำหรับผู้ตัดสินการแข่งขันกีฬากลางแจ้ง หรือการย้ายการแข่งขันกลางแจ้งบางประเภทไปยังสถานที่จัด ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าโตเกียว เช่น การแข่งขันวิ่งมาราธอนไปจัดที่ฮอกไกโด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยี AI และ Cloud จาก Alibaba เข้ามาเป็นเครื่องมือสำหรับการแจ้งเตือนและการดูแลรักษาสุขภาพเจ้าหน้าที่จากภาวะฮีทสโตรกอีกด้วย ซึ่งอุปกรณ์ที่ว่านี้คือ ชุดหูฟังตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจและอุณหภูมิของร่างกาย ที่จะส่งข้อมูลไปยังระบบ Cloud ซึ่งจะระบุระดับความเสี่ยงการเกิดฮีทสโตรกในแบบเรียลไทม์สำหรับเจ้าหน้าที่เป็นรายคน โดยที่ความเสี่ยงจากฮีทสโตรกจะถูกประเมินโดยอัลกอริธึมที่รวมข้อมูลส่วนบุคคล เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีเครื่องวัดความร้อนติดตั้งไว้ทั่วสถานที่จัดการแข่งขันอีกด้วย โดยเมื่อพบสัญญาณอันตรายการเกิดโรคในบุคคลใด ก็จะมีการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์พร้อมกับมาตรการป้องกันและคำแนะนำ เช่น ให้พักเบรกจากกิจกรรมกลางแจ้งนั้น หรือให้ดื่มน้ำให้มากขึ้นโดยเร็วที่สุด
--- เจ้าหน้าที่โตเกียวโอลิมปิก 2020 สวมใส่หูฟังตรวจสอบการเต้นของหัวใจและอุณหภูมิร่างกาย ---
ที่มา: https://www.reuters.com/
แผ่นเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์บนผิวหนังวัดค่า pH เหงื่อ แจ้งเตือนฮีทสโตรก ที่ไม่แสดงอาการ
ผลงานจากนักวิจัยมหาวิทยาลัย Tokai ในญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่บนข้อบ่งชี้สำคัญประการหนึ่งของผู้ป่วยฮีทสโตรก ที่บ่อยครั้งมักไม่แสดงอาการก่อนเกิดความรุนแรง โดยอาศัยวิธีตรวจค่าความเป็นกรดหรือด่าง (ค่า pH) ในเหงื่อหรือผิวหนังที่สามารถบ่งชี้ถึงสภาวะขาดน้ำได้ แผ่นเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์นี้จึงทำการวัดค่า pH ของเหงื่อบนผิวหนัง ทำให้สามารถตรวจหาภาวะฮีทสโตรกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
แผ่นเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์บนผิวหนัง มีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก ผลิตจาก Polydimethylsiloxane ซึ่งเป็นฟิล์มโพลีเมอร์ที่มีความยืดหยุ่นสูงและทนทาน สามารถวางอิเล็กโทรดเซ็นเซอร์ที่คอยจับค่า pH ของเหงื่อที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เพื่อแจ้งเตือนว่าร่างกายอาจกำลังเผชิญภาวะฮีทสโตรก แบบที่ไม่แสดงอาการได้อย่างเรียลไทม์ ส่งผลให้สามารถเตือน และยับยั้งความรุนแรงของโรคได้
ปัจจุบัน เซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์บนผิวหนัง ยังเป็นร่างต้นแบบที่ใช้ในวงจำกัด และอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาประสิทธิภาพของอุปกรณ์ให้เหมาะกับการใช้ในเชิงพาณิชย์ที่มีปริมาณมาก โดยที่ทีมนักวิจัยได้เก็บข้อมูลร่วมกับปัจจัยแวดล้อม เช่น อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ ว่าส่งผลต่อค่าพารามิเตอร์ของร่างกายอย่างไร เมื่อมีปัจจัยส่วนบุคคล เช่น สภาพแวดล้อม เชื้อชาติ และอายุ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างฮีทสโตรก ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านร่างกาย เพื่อให้อุปกรณ์เรียนรู้ เก็บข้อมูล และตีความได้อย่างประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปลอกแขนวัดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายเตือนสัญญาณฮีทสโตรก
--- ปลอกแขนเตือนฮีทสโตรก จาก Kenzen ---
ผลงานจาก Kenzen สตาร์ทอัปน้องใหม่ที่โฟกัสการพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล เพื่อให้คนทำงานปลอดภัยจากความร้อน ความเหนื่อยล้า และการทำงานที่หนักเกินไป ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปในการทนต่ออุณหภูมิที่ร้อนจัดและการทำงานท่ามกลางอากาศร้อน จึงทำให้ Kenzen ผลิตปลอกแขนวัดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายเพื่อแจ้งเตือนสัญญาณฮีทสโตรก แบบเฉพาะเจาะจงของผู้ใช้แต่ละราย
ปลอกแขนประกอบด้วยเซ็นเซอร์ที่ตรวจสอบตัวชี้วัดทางสรีรวิทยาของผู้ใส่ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ กิจกรรมที่ทำ ความเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เป็นต้น และสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิแวดล้อมหน้างาน ที่จะแจ้งเตือนผู้สวมใส่ผ่านการสั่นสะเทือนแบบสัมผัส เมื่อมีข้อบ่งชี้ถึงอันตรายจากความเครียดของร่างกายจากความร้อน
ทั้งนี้ การแจ้งเตือนจะมาพร้อมกับคำแนะนำที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล เช่น การหยุดพัก เข้าที่ร่ม ดื่มน้ำ หรือใช้ความเย็นเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย และจะแจ้งเตือนอีกครั้ง เมื่ออุณหภูมิร่างกายกลับสู่ระดับที่ปลอดภัย
ในขณะเดียวกัน ผู้บังคับบัญชาของผู้สวมใส่ที่ได้รับแจ้งเตือนก็จะถูกเตือนผ่านแอปพลิเคชันว่า พนักงานคนใดที่ควรพักเนื่องจากร่างกายกำลังเผชิญกับความร้อน
--- ระบบแจ้งเตือนเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงเกินไปและเมื่ออุณหภูมิกลับสู่ระดับปลอดภัย จาก Kenzen ---
ที่มา: https://kenzen.com/
ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงช่วยป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากฮีทสโตรก ในคนทำงานเท่านั้น แต่องค์กรก็ยังสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อลดความเสี่ยงจากความร้อนในหน้างาน ลดการบาดเจ็บของคนทำงาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และจัดการผลลัพธ์ในเชิงรุกได้อีกด้วย ซึ่งข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลนั้นจะมีเพียงเจ้าของข้อมูลเท่านั้นที่มองเห็น ในขณะที่ข้อมูลประกอบสำหรับผู้บังคับบัญชา เป็นข้อมูลเฉพาะที่จำเป็นเพื่อให้พนักงานปลอดภัยเท่านั้น
ทั้งนี้ การเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อนกลายเป็นปัญหาระดับชาติของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2021 มีสถิติว่าคนอเมริกันกว่า 200 ล้านคนถูกแจ้งเตือนและให้คำแนะนำว่าอาจเกิดภาวะเจ็บป่วยจากอากาศร้อน ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มอบหมายให้ สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย กำหนดมาตรฐานใหม่เกี่ยวกับความปลอดภัยของแรงงานในการป้องกันอันตรายจากภาวะอากาศร้อนขณะทำงาน
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนขณะทำงาน สิ่งที่สำคัญก็คือ ทุกคนต้องรู้จักและเข้าใจในโรคและตระหนักถึงความรุนแรงของการเจ็บป่วยนี้เพื่อให้รู้เท่าทันร่างกายของตนเอง หากจำเป็นต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนจัด ในขณะที่องค์กรหรือผู้จัดกิจกรรมกลางแจ้งก็ต้องหามาตรการในการรับมือเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงาน และผู้ร่วมกิจกรรมให้ดีที่สุด
อ้างอิง:
Comments