เรียนออนไลน์ ไปต่อหรือพอแค่นี้ กับหลากหลายเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นจริงได้
เมื่อโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวขนานใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่โลกของการศึกษาที่ถูก Disrupt จนทำให้วิถีการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียนไปสู่การเรียนผ่านหน้าจอแบบฉับพลัน ครู นักเรียน และผู้ปกครองต้องปรับตัวเองให้เข้าสู่โหมดการเรียนการสอนออนไลน์ที่กลายเป็นการศึกษาภาคบังคับด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เมื่อการเรียนผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มจากบ้านเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศตั้งแต่ต้นปี 2020 เห็นได้จากตลาดของ Educational Technology หรือ Edtech ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของโรค
โดยผลวิเคราะห์จาก HolonIQ แพลตฟอร์มเทรนด์ข้อมูลและงานวิจัยทางการศึกษา พบว่าแรงผลักดันจากโควิด-19 ทำให้ภายในปี 2025 ตลาด Edtech ทั่วโลกจะเติบโตมีมูลค่าถึงสี่แสนสี่พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2020 หรือมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16.3% ต่อปี ในขณะเดียวกันก็จะเห็นบริการของ Edtech ที่เพิ่มขึ้นอย่างหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้เรียน และผู้สอน
ที่มา: https://www.holoniq.com/
เมื่อเทรนด์การเรียนการสอนแบบออนไลน์น่าจะยืนระยะไปอีกนาน Tech by True Digital จะพาไปดูตัวอย่างบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มในยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ช่วยให้ผู้เรียนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ทั้งความรู้เหมือนในห้องเรียน ได้ความสนุกสนานและช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ไปในเวลาเดียวกัน บางนวัตกรรมช่วยส่งเสริมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์หรือ Critical thinking อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามาอย่างที่ทั้งเข้าใจผู้สอน ผู้เรียน และส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง อาทิ
Ruangguru สตาร์ทอัป Edtech จากกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ได้เปิดตัว 18 ช่องเรียน ออนไลน์แบบ Livestreaming และ superApp โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียนกว่า 50 ล้านคน หลังรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และปิดโรงเรียนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
Ruangguru ขึ้นอันดับต้น ๆ ของยอดการดาวน์โหลดบนชาร์ตแอปสโตร์ในช่วงล็อกดาวน์เพราะออกแบบการเรียนรู้แบบให้เด็กมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการมีครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญบนหน้าจอ แอนนิเมชั่นสนุก ๆ การเขียนสตอรี่บอร์ดแบบรอบคอบและระมัดระวังการใช้เนื้อหา การสร้างโพลที่ให้ผู้เรียนสามารถโต้ตอบได้ เป็นต้น
ที่มา: https://www.ruangguru.com/
การออกแบบนวัตกรรมเพื่อการศึกษาออนไลน์ของ Ruangguru นี้อยู่บนพื้นฐานที่ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอินโดนีเซียนั้นค่อนข้างล้าหลังเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในเอเชีย ดังนั้นการศึกษาออนไลน์ผ่านช่องทางของ Ruangguru จะช่วยป้องกันไม่ให้ช่องว่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กอินโดนีเซียกว้างขึ้นกว่าเดิมเพียงเพราะมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19
Skillshare หนึ่งในแพลตฟอร์มสำหรับบทเรียนแบบวิดีโอ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 Skillshare ได้ก้าวไปสู่การเป็นชุมชนการเรียนรู้ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 12 ล้านคน เฉพาะปี 2020 ในช่วงการระบาดนั้นมียอด subscriber ถึง 3 ล้านคน และมีการเลือกเรียนคลาสออนไลน์กว่า 30,000 คลาสด้วยหัวข้อที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหัวข้อเรียนส่วนใหญ่ใน Skillshare ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และเป็นคลาสสำหรับงานอดิเรก เช่น การวาดภาพสีน้ำ การถ่ายภาพ เป็นต้น ซึ่งในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังได้รับความสนใจจากลูกค้าองค์กรมากขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า
Homer แอปพลิเคชันพัฒนาการอ่านของวัยเด็กที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2013 โดยใช้แนวทางการวิจัยเพื่อสร้างทักษะการอ่านในเด็กอายุ 2-8 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ประสบปัญหามากที่สุดในการเปลี่ยนผ่านไปเรียนแบบการเรียนรู้เสมือนจริงหรือ Virtual Learning ซึ่งหลังจากการปิดโรงเรียนทำให้ผู้ปกครองของเด็กในวัยนี้ต้องหาทางออกเพื่อให้การเรียนรู้ของลูกยังเดินหน้าต่อไปได้ โดย Homer เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมในช่วงล็อกดาวน์ โดยมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย 75% ของสมาชิกใช้เวลาไปกับการเรียนถึง 5 บทเรียนในหนึ่งวัน
ที่มา: https://learnwithhomer.com/
Read Together to prevent the novel Coronavirus แพลตฟอร์มดิจิทัลในฮ่องกง ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่บ้าน (Home Schooling) โดยมีการรวบรวมสื่อการเรียนมากกว่า 900 แบบทั้งวิดีโอ หนังสือ หรือเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของ องค์กรด้านการศึกษามากกว่า 60 แห่งในฮ่องกง รวมไปถึงสำนักพิมพ์ สื่อ และอุตสาหกรรมบันเทิง ที่ตั้งใจจะพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ต่อไปแม้ยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม
สำหรับประเทศไทยเองก็มีบริษัทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพิ่มมากขึ้นในหลากหลายสายการเรียนรู้ ทั้งเพื่อการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม การเรียนการสอนแบบในห้องเรียน การกวดวิชาติวสอบ หรือคอมมูนิตี้สำหรับวิชาชีพครู เป็นต้น โดยตัวอย่างของบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในไทย อาทิ
insKru แพลตฟอร์มคอมมูนิตี้ครูเพื่อแบ่งปันไอเดียจากครูทั่วประเทศ จากความเชื่อที่ว่าครูที่สอนเก่ง และมีไอเดียการสอนดี ๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมให้ครูสามารถส่งต่อไอเดียไปให้ครูทั่วประเทศ ที่มีความมุ่งหมายเดียวกันคือการสร้างห้องเรียนที่มีคุณภาพ
โดยครูจะเข้ามาแลกเปลี่ยนแผนการสอน สื่อการสอน แบบฝึกหัด เทคนิคการสอนที่ใช้กับนักเรียน พร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนมุมมอง แรงบันดาลใจให้แก่เพื่อนร่วมวิชาชีพครูอีกด้วย โดยแพลตฟอร์มนี้สามารถเชื่อมให้ครูได้ส่งต่อไอเดียไปกว่า 4,000 ไอเดีย ถูกนำไปใช้มากกว่า 50,000 ห้องเรียนทั่วประเทศ ช่วยผลักดันให้ครูไทยมีศักยภาพในการสอนเด็กได้ดียิ่งขึ้น
ที่มา: https://inskru.com/
Vonder แพลตฟอร์มการเรียนแนวใหม่ที่มาในรูปแบบแชทบอทเชิงการศึกษาที่เน้นหลักการ Gamification ให้ผู้เรียนสนุกไปกับการเล่นเกมส์ ซึ่งเกิดจากการแก้ pain point ของการเรียนระบบ e-Learning ผ่านวิดีโอที่ผู้เรียนบางรายอาจไม่ตอบสนองกับการเรียนในรูปแบบนี้ Vonder จึงสร้างสรรค์การเรียนรู้แบบ Micro Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีคอนเทนต์แบบสั้น ๆ ใช้เวลารวดเร็ว ไม่น่าเบื่อ เหมือนเล่นเกมที่มีความสนุกสนานไปด้วย
ซึ่งเนื้อหาในเกมส์หรือบทเรียนนั้นครอบคลุมทั้งการท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ, ตารางธาตุ, ประวัติศาสตร์โลก และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง จากแอปพลิเคชัน Vonder หรือแอปขององค์กรที่ซื้อบทเรียนไปให้พนักงาน หรือแม้กระทั่งบน LINE แอปพลิเคชัน ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ใช้งานในแต่ละวันมากกว่า 70% จากผู้ใช้งานราว 3 แสนคน โดย Vonder กำลังเตรียมทำ Vonder for School สำหรับครูให้ใช้ฟรีอีกด้วย
StartDee คือแอปพลิเคชันด้านการศึกษา ที่มีเป้าหมายในการใช้เทคโนโลยีมาขยายโอกาสให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ตั้งแต่ระดับชั้น ป.4 - ม.6 ครบทุกวิชาหลัก ครอบคลุมทั้งในและนอกหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย
VLEARN แพลตฟอร์มเพื่อการบริหารจัดการ การเรียนการสอนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ สำหรับสถาบันการศึกษาทุกระดับ เพื่อให้การเรียนผ่านหน้าจอมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เหมือนกับยกชั้นเรียนไปไว้ที่บ้าน เข้าถึงได้ทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน โดยมีจุดเด่นที่มีฟีเจอร์ที่ประกอบไปด้วยแพลตฟอร์มที่ใช้ในการเรียนแบบครบครัน ทั้งห้องเรียนเสมือนจริงผ่าน Video Conference คลังบทเรียนและคลังข้อสอบ ระบบมอบหมายงาน ตามงาน ส่งการบ้าน ทำข้อสอบ รวมไปถึงการบันทึกข้อมูลนักเรียนและโรงเรียนหรือที่เรียกว่าสมุดพกดิจิทัลอีกด้วย
ที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างจากบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งล้วนตั้งใจให้การเรียนรู้ทางไกลสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงปกติและแม้ในช่วงที่การเรียนจำเป็นต้องทำผ่านหน้าจอ
อย่างไรก็ดี แม้จะยังมีความจริงที่ว่าการเข้าถึงทางการศึกษาแบบออนไลน์ ยังคงจำกัดในหลายประเทศและในประเทศไทยเองเช่นกัน จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและปัญหาที่ตามมาในหลายรูปแบบ จนมีข้อเสนอจากนักวิชาการการศึกษาของไทยที่เสนอให้หยุดเรียนพร้อมกันทั้งประเทศเป็นเวลา 1 ปี เหตุจากความเครียดของเด็กที่ต้องรับรู้เนื้อหาผ่านหน้าจอเป็นเวลานาน อุปกรณ์ไม่พร้อม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไม่อำนวย
แต่เพราะโลกไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป เราจะเห็นการยอมรับเทคโนโลยีในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น การเรียนการสอนแบบ Hybrid ที่ผสมผสานทั้งผ่านดิจิทัลและเรียนในห้องเรียนจะกลายเป็นวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 แม้เทคโนโลยีสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้เป็นอย่างดี หากแต่การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เพื่อการเรียนไม่พร้อม สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดีหรือบางคนไม่มีแม้แต่อินเทอร์เน็ตนั้น อาจทำให้เด็กหลายคนหลุดออกจากภาคการศึกษาไปอย่างง่ายดาย
ดังนั้นการช่วยให้เด็กทุกคนเข้าถึงทรัพยากรด้านดิจิทัลที่จำเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันแสดงถึงความเสมอภาคของการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ของเด็กทุกคน
เพราะเมื่อทุกคนเข้าถึงทรัพยากรทางดิจิทัลแบบเท่าเทียม เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกสร้างสรรค์มาเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นก็จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์จนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง
#เรียนออนไลน์
ที่มา:
Comments